เผยแพร่ |
---|
ปัจจุบัน อุบัติการณ์การเกิดโรคไตวายเรื้อรังของคนไทยมีมากกว่า ร้อยละ 17.5 หรือกว่า 10 ล้านคน โดยมีความชุกของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนด้วยการฟอกเลือด ล้างไตทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไต เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 30 ต่อล้านประชากร ในปี 2540 เป็นกว่า 900 ต่อล้านประชากร ในปี 2555 ซึ่งมีโรคเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น (ร้อยละ 37.5) และโรค ความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 25.6) เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย
ศ.พญ.ดร. นริสา ฟูตระกูล และ ศ. กิตติ คุณ นพ. ประสิทธิ์ ฟูตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากงานวิจัยในโครงการ “ทัศนคติการป้องกันภาวะไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายในโรคไตจากเบาหวาน : ยุทธศาสตร์การรักษาแนวใหม่” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้ค้นพบองค์ความรู้ในการคัดกรอง ผู้ป่วยไตจากเบาหวานแต่เนิ่นๆ และเป็นครั้งแรกที่พบว่าปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงไตสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ สามารถแก้ไขความผิดปกติและป้องกันการทำลายไต ความดันภายในไตลดลง อัตรากรองสารไตไม่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งยุทธศาสตร์การรักษาแนวใหม่นี้สามารถนำไปขยายผลอย่างกว้างขวาง และนำไปเป็นยุทธศาสตร์ชาติเพื่อลดอุบัติการณ์เกิดโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
ศ.พญ.ดร. นริสา กล่าวว่า ความแตกต่างที่สำคัญในผู้ป่วยไตจากเบาหวานระยะแรก (ระยะ 1,2) กับระยะหลัง (ระยะ 3,4,5) ภาวะธำรงดุลของหลอดเลือดค่อนข้างดีในระยะแรก โดยตัวหลอดเลือดสามารถสร้างสารซ่อมแซมหลอด เลือด และสารขยายหลอดเลือด เช่น ไนตริกออกไซด์ ได้พอเพียง ตอบสนองต่อยาออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ใช้เพื่อเพิ่มปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงไต และสามารถแก้ไขภาวะไตขาดเลือด สำหรับการศึกษาภาวะการธำรงดุลของหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานระยะหลัง พบความผิดปกติหลายอย่าง มีสารยับยั้งการซ่อม แซมหลอดเลือด และไม่สามารถสร้างไนตริกออกไซด์ได้เพียงพอ หลอดเลือดแข็งตีบตัน ทำให้ยาออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ใช้รักษาไม่ได้ผล ไม่สามารถเพิ่มปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงหรือแก้ไขภาวะไตขาดเลือดได้ เป็นเหตุให้เนื้อไตถูกทำลายอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การฟอกไต
เราสามารถฟื้นฟูการทำงานของไตให้ดีขึ้นหรือเป็นปกติได้หากเริ่มต้นคัดกรองผู้ป่วยไตจากเบาหวานในระยะเริ่มแรกในภาวะที่ธำรงดุล ของหลอดเลือดยังดีอยู่ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการศึกษา ในผู้ป่วยโรคไตในเบาหวานระยะ 1,2 จำนวน 100 ราย ด้วยการรักษาแบบองค์รวม ลดปัจจัยเสี่ยง บริโภคน้ำ ควบคุมระดับความดัน การทำงานของไต น้ำตาล ไขมัน พักผ่อน ลดเครียด ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลเสียต่อไต ร่วมกับการให้ยาขยายหลอดเลือดอย่างระมัดระวัง ในรายที่มีระดับความดันโลหิตปกติที่มีภาวะ hyperfiltra tion พบว่าการติดตามการรักษาไปนานกว่า 10 ปี ไม่มีภาวะโปรตีนชนิด อัลบูมินรั่วออกมาในปัสสาวะ การทำงานของไตดีขึ้น
ศ.พญ.ดร. นริสา กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายจะลดลงอย่างมากภายใน 3-5 ปี สามารถประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างมหาศาล พี่ตูนไม่ต้องมาวิ่ง ทั้งนี้ ปัจจุบันใช้ งบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายมากกว่า 20,000 ล้านบาท ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ต่อปี หากไม่มีการแก้ไขคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยไตวาย ระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200,000 ราย และต้องใช้งบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท ตามข้อมูลของ นพ. โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
การวิจัยยังพบว่าสมุน ไพรบางชนิดมีประโยชน์ที่จะสามารถลดน้ำตาลและบำรุงไต ขณะที่บางชนิดเป็นโทษ ดังนั้น การปลูกสมุนไพรใช้ในครัวเรือนจึงช่วยส่งเสริมสุขภาพและลดค่าใช้จ่ายจากยา แต่การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุดคือ ตัว ผู้ป่วยเอง
หากประชาชนที่ต้องการหนังสือและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคไต ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ [email protected] และ facebook Prasit Futrakul
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด