ผู้เขียน | น้าชาติ ประชาชื่น |
---|---|
เผยแพร่ |
กลอยไม่ใช่เหล้า ทำไมกินแล้วเมา
แดงน้อย
ตอบ แดงน้อย
คำตอบนำมาจากเว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล www.pharmacy.mahidol .ac.th ภญ. กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร เขียนบทความเรื่อง กลอย ไว้ว่า กลอย (Wild Yam) เป็นพืชชนิดหนึ่ง บางพื้นที่เรียกว่า มันกลอย กลอยข้าวเหนียว กลอยหัวเหนียว กลอยนก กลอยไข่ ซึ่งคนทั่วไปก็มักจะรู้จักเมื่อมันถูกแปรรูปเป็นอาหารแล้ว
เช่น กลอยทอด ข้าวเหนียวหน้ากลอย กลอยแกงบวด ข้าวเกรียบกลอย เป็นต้น พบตามธรรมชาติได้ทั่วไปในป่าฝนเขตร้อน บริเวณที่ลุ่มต่ำ ที่รกร้าง ป่าเต็งรัง ป่าผสม ป่าดงดิบ
กลอยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dioscorea hispida Dennst. อยู่ในวงศ์ Dioscoreaceae เป็นไม้เถาล้มลุก ไม่มีมือเกาะ ลำต้นกลมมีหนาม หัวใต้ดินส่วนมากรูปร่างกลมรี บางทีเป็นพู มีรากเล็กๆ กระจายทั่วทั้งหัว เกิดใต้ผิวดิน เปลือกสีฟางหรือเทา เนื้อขาวหรือเหลืองอ่อนอมเขียว เป็นพิษ ใบเรียงสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ ดอกมีขนาดเล็ก สีเขียว ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน เมล็ดกลมแบน มีปีกบางใสรอบเมล็ด
ในหัวกลอยมีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารพิษที่ชื่อว่า ไดออสคอรีน (dioscorine) โดยปริมาณสารพิษจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เก็บ กลอยจะมีพิษมากในช่วงที่ออกดอก คือช่วงหน้าฝนประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และพิษจะลดลงเมื่อกลอยเริ่มลงหัวในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน
การเก็บกลอยนิยมทำกันในหน้าร้อน เพราะจะมีหัวใหญ่ โผล่พ้นดินและเถาแห้งตาย ทำให้เก็บง่าย กลอยที่นำมารับประทานมีอยู่ 2 ชนิดคือ กลอยข้าวเจ้า ลักษณะของเถาและก้านใบมีสีเขียว เนื้อในหัวมีสีขาวนวลและหยาบ
อีกชนิดคือกลอยข้าวเหนียว เถามีสีน้ำตาลอมดำ เนื้อในหัวมีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม เนื้อเหนียว รสชาติดีกว่ากลอย ข้าวเจ้า แต่กลอยทั้งสองชนิดก็มีพิษพอๆ กัน ดังนั้นต้องกำจัดพิษออกเสียก่อน
วิธีการคือใช้น้ำชะล้างสารพิษออกให้หมด เพราะสารไดออส คอรีนละลายได้ดีในน้ำ ขั้นตอนกำจัดพิษเริ่มจากปอกเปลือกกลอยออกแล้วฝานเนื้อเป็นแผ่นบางๆ นำไปตากแห้ง ซึ่งจะทำให้เก็บไว้ได้นาน ก่อนนำมาประกอบอาหาร ให้เอากลอยแห้งใส่ในภาชนะโปร่งแช่ในน้ำไหล 1 วัน 1 คืน แล้วนำมานวด ให้นุ่ม
จากนั้นผึ่งแดดพอหมาดๆ นำกลอยไปใส่ภาชนะแช่น้ำเช่นเดิม ทำซ้ำๆ กัน 2-3 ครั้ง จนกลอยนุ่มดีแล้วจึงนำไปประกอบอาหาร หรือในพื้นที่ชายทะเล หั่นกลอยเป็นแผ่นบางๆ แล้วแช่น้ำทะเลเพื่อให้เกลือช่วยทำลายพิษ แต่ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำ ส่วนใหญ่ใช้เวลาแช่สลับประมาณ 7 วัน นำไปตากแห้งจะเก็บไว้ได้นาน เมื่อจะนำมาประกอบอาหารก็แช่น้ำอีก 1 หรือ 2 คืน แล้วคั้นน้ำทิ้ง
อย่างไรก็ตาม วิธีการกำจัดพิษดังกล่าวควรทำโดยผู้ที่มีความชำนาญ คนทั่วไปไม่ควรลองทำเอง เพราะอาจกำจัดพิษออกไม่หมด หรือพิษยังคงอยู่ครบถ้วน โดยควรเลือกซื้อเลือกกินจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งมีแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญหากรับประทานแล้วเกิดความผิดปกติกับร่างกาย รีบพบแพทย์ทันที
ผลจากการได้รับพิษของสารไดออสคอรีน อาการแสดงคือ ใจสั่น วิงเวียน คันคอ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ซีด ตาพร่า อึดอัด เป็นลม ตัวเย็น อาจมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ ระยะต่อมาคือ กดระบบประสาทส่วนกลาง หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการชักและเสียชีวิตได้
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]