หมู่บ้านตาลโตนด สงขลา สร้างบ่อแก๊สชีวภาพ นำมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้อย่างดี

พื้นที่ตำบลบางเขียด เป็นพื้นที่ติดกับทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่ที่ประชากรมีอาชีพทางด้านการเกษตร และทำการประมงเป็นหลัก แต่ในสภาวะปัจจุบันที่ราคาพืชผลทางการเกษตรและประมงตกต่ำ และทรัพยากรธรรมชาติได้ลดจำนวนลง ส่งผลให้ประชากรในพื้นที่มีรายได้ลดน้อยลง แต่มีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตำบลบางเขียด ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้จึงได้จัดทำโครงการลดรายจ่ายให้แก่ชุมชน เช่น โครงการส่งเสริมการผลิตแก๊สชีวภาพระดับครัวเรือน ในปี 2558 และ ในปี 2560 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างบ่อแก๊สชีวภาพจากถุง LDPE จากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา เพื่อทดแทนแก๊สหุงต้ม ทำให้ในปัจจุบันมีบ่อแก๊สชีวภาพซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในครัวเรือน ซึ่งสามารถลดรายจ่ายด้านการใช้พลังงานได้เป็นอย่างดี

จากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถช่วยลดรายจ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนในพื้นที่ได้นั้น ตำบลบางเขียดจึงได้เล็งเห็นถึงประโยชน์จากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างศักยภาพในการประกอบอาชีพของประชาชนในด้านอื่นๆ ในพื้นที่ ได้แก่ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นโดยเฉพาะตาลโตนด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งในพื้นที่

ตาลโตนด เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง แต่เกษตรกรในพื้นที่ยังคงขาดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการเพิ่มมูลค่าของตาลโตนด และยังขาดเทคโนโลยีในการเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด ตำบลบางเขียดจึงมีความประสงค์ในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในด้านต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตาลโตนดเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ และยังเป็นต้นแบบในการจัดการให้แก่ชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแห่งอื่นๆ ต่อไป

อาจารย์นพดล โพชกำเหนิด และอาจารย์ในหลักสูตรรายวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาศึกษาทั่วไป คณะศิลปศาสตร์ ร่วมกับคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา ได้เริ่มดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก๊สชีวภาพระดับครัวเรือนมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ซึ่งพบว่าชุมชนได้ตระหนักถึงผลดีของโครงการหลายประการ จากผลสำเร็จในการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ชุมชนจึงเห็นความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้แก่ การใช้วิทยาศาตร์เทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าของตาลโตนดในทุกมิติได้แก่

1) ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น การผลิตเป็นขนมตาล คุกกี้ตาลโตนด น้ำตาลสดพาสเจอไรซ์ น้ำส้มตาลโตนดกรอง

2) ผลิตภัณฑ์ของใช้/ของประดับตกแต่ง ได้แก่ ดอกไม้ ของเล่น ของที่ระลึก ถ่านดับกลิ่น เฟอร์นิเจอร์จากทางตาลโตนด

3) วัสดุบำรุงดิน เช่น ปุ๋ยหมักจากเศษผลตาลโตนด ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนบางเขียดสามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากตาลโตนดได้ครบทุกมิติ

ซึ่งโครงการหมู่บ้านตาลโตนด ได้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 28 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2561 ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลบางเขียด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับเกียรติจาก       ดร.จเร สุวรรณชาต รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นประธานในพิธีเปิดและส่งมอบป้ายโครงการหมู่บ้านตาลโตนด ให้กับชาวบ้านในชุมชนตำบลบางเขียด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปตาลโตนดให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการนำวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปตาลโตนดไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร และเพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปตาลโตนดสู่มาตรฐานต่อไป