ม.เกษตร เปิดเวทีถกปัญหาข้าวไทย เตรียมพร้อมสร้างลูกชาวนารุ่นใหม่ เปิดเครือข่ายซื้อขายข้าว

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ห้องปฏิบัติการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน มีเวทีประชุมเตรียมความพร้อม “ลูกชาวนา” ซับน้ำตาพ่อ เตรียมความพร้อมสู่การเป็นลูกชาวนารุ่นใหม่ มีการอบรมเกี่ยวกับวิธีการแปรรูป วิธีการขาย และวิธีการดูแลคุณภาพข้าว มีนิสิตเกษตรที่เป็นลูกชาวนา ศิษย์เก่า ชาวนา คนทั่วไปที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายซื้อขายข้าวลูกชาวนากว่า 200 คน

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวถึง โครงการ “ลูกชาวนา” ซับน้ำตาพ่อ ว่า สืบเนื่องมาจากราคาข้าวที่มีความผันผวนและตกต่ำลงเรื่อยๆเป็นที่มาของความคิดว่าเราจะช่วยเหลือชาวนาได้อย่างไร มีการโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ฉะนั้นวันนี้ที่เรามานั่งกันอยู่ในที่นี้เป็นการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนโดยเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อน เชิญชวนให้ช่วยกันมองหาลูกชาวนารอบตัว ไม่ว่าเป็นเพื่อนในออฟฟิศ ติดต่อกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด “ถ้าจะช่วยให้มองหาลูกชาวนารอบๆตัวท่าน”

ดร.เดชรัตบอกอีกว่า เป้าหมายวันนี้เราเน้นว่าลูกชาวนาจะต้องทำอย่างไรก่อน ยังไม่ได้ไปถึงในแง่นโยบายแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ แต่ ณ วันนี้เราวางเป้าหมายที่การช่วยเหลือลูกชาวนา เราไม่ได้เน้นราคาที่ปลายทาง แต่เน้นที่ราคาต้นทาง เช่นข้าวหอมมะลิจาก 9,000 บาทต่อตัน สามารถกระเถิบไปที่ 15,000 บาทต่อตัน หรือข้าวขาวขายได้ที่ 8,000 บาทต่อตัน และเชื่อว่าในระยะสั้นเราจะสามารถหยุดกระแสการรีบขายข้าวในราคาต่ำของชาวนาได้ รวมทั้งช่วยให้ราคาจากยุ้งฉางไม่ตกต่ำลงไปกว่านี้

“คำว่า “ลูกชาวนา” เป็นแนวคิด ไม่ใช่แบรนด์ ใครจะใช้คำว่าลูกชาวนาก็ได้ เราไม่ใช่จุดรวม เราไม่มีการเก็บข้าวไว้ แต่เราเชิญชวนให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ แต่ถ้าต้องการความช่วยเหลือ เรายังทำหน้าที่เป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกัน ทำหน้าที่ประสานให้ เช่น ถ้าไม่รู้ว่าจะสีข้าวที่ไหน เรามีเครือข่ายโรงสีที่สุพรรณบุรี พะเยา เชียงราย ที่ยินดีให้การช่วยเหลือ”

ดร.เดชรัต บอกอีกว่า ที่สำคัญคือเราอยากให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาให้ความร่วมมือ ล่าสุดเราได้รับข่าวดีจากสำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์เตรียมให้พาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดเปิดพื้นที่ขายให้ รวมทั้งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และธรรมศาสตร์ก็จะเป็นพื้นที่ขายได้

เรื่องเงินทุนหมุนเวียนก็สำคัญ ชาวนาจะทำได้ต้องมีเงินไปจับจ่ายก่อน เช่นมธ.ประกาศแล้วว่าจะมีเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือนักศึกษาโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรกร

ดร.เดชรัต บอกอีกว่าการแก้ปัญหาเราได้แนวคิดนี้จากหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นการแก้ปัญหาที่เป็นการ “ระเบิดจากข้างใน” และอุ้มชูกันเอง คนกินกับคนปลูกช่วยกัน ทำแบบพอดีตัว และไม่ต้องมารวมศูนย์ที่เกษตรศาสตร์หรือธรรมศาสตร์ อยากให้พวกเราทำด้วยหัวใจที่พองโต

14885961_10154590819581668_125671645_n

ทางด้าน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หนึ่งในวิทยากรที่มาเล่าประสบการณ์ตรงบอกว่า ปัญหาหนึ่งคือเกษตรกรไม่มีอำนาจการต่อรอง ไม่ทราบราคาจนกว่าจะเอาข้าวไปที่โรงสี

ทุกวันนี้มี 3.7 ล้านครัวเรือนที่เป็นชาวนา หากเราแก้ปัญหาชาวนาไม่ได้มันจะเป็นวิกฤต โจทย์นี้เราควรจะหาทางแก้ แม้จะแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่มันควรจะดีขึ้น

“ผมพยายามตีโจทย์เรื่องราคาข้าว ซึ่งแปลกมาก ข้าวเปลือกราคาถูก แต่ข้าวสารราคาแพง”

นายสมบัติบอกว่า โดยส่วนตัวตนไม่กังวลเรื่องคุณภาพข้าว เพราะข้าวที่เรากินทุกวันนี้เป็นคุณภาพข้าวถุง เครื่องสีข้าวที่ใช้มาตรฐานสูงมาก ขัดข้าวขาวมาก ขณะที่ข้าวจากโรงสีชุมชนจะอกเหลือง แต่หุงออกมาก็ขาวเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องหามาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับได้ เพราะเป็นเรื่องยากที่ลูกชาวนาจะสีข้าวได้ออกมาเหมือนข้าวถุงซึ่งถ้าทำได้ขนาดนั้น ค่าใช้จ่ายสูงมาก

ผมมั่นใจว่าถ้าลูกชาวนาทำแบรนด์เอง ปีแรกอาจจะมีปัญหาเรื่องกรวดเรื่องมอด แต่การขายคนรู้จักขายเพื่อนในออฟฟิศถ้าทำสัก 3 ปีจะพัฒนามาตรฐานขึ้น เกิดเป็นจีไอของข้าว รวมทั้งสตอรีที่มาของข้าวจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของข้าวอีกด้วย

นายสมบัติบอกอีกว่าอยากให้พัฒนาข้าวลูกชาวนาไปจนถึงจุดที่ค้นพบข้าวหอมมะลิก่อนจะมาถึงข้าวหอมมะลิ105ซึ่งเป็นข้าวชนะการประกวดจากการที่สามารถทำผลผลิตต่อไร่สูง แต่ไม่มีกลิ่นหอมฟุ้งเหมือนเมื่อก่อนซึ่งข้าวหอมมะลิที่ผมเคยได้กินและจำได้จนทุกวันนี้มีกลิ่นหอมมากๆ

14877031_10154590819611668_1450535567_n