เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561 สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม

นายใจ สุวรรณกิจ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

อายุ                      63 ปี

การศึกษา             มัธยมศึกษา โรงเรียนสารพัดช่าง จังหวัดสงขลา แผนกช่างยนต์

สถานภาพ           สมรส บุตร จำนวน 3 คน ชาย 1 คน หญิง 2 คน

ที่อยู่                     บ้านเลขที่ 224 หมู่ที่ 2 ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

โทรศัพท์              (083) 537-1313

อาชีพ                   เกษตรกรรม

 

ผลงานดีเด่น

ความคิดริเริ่ม และความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน

ความคิดริเริ่ม

  1. การทำการเกษตรนั้นต้องมีความรอบรู้หรือองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการเกษตรนั้นไม่มีสูตรตายตัว ต้องทดลอง ทดสอบ ฝึกฝนตลอดชีวิต และที่สำคัญต้องยึดหลักความพอเพียงตามคำสอนของพ่อ (รัชกาลที่ 9) ซึ่งตนเองเป็นช่างซ่อมรถและรักการเกษตร จึงมีคติประจำใจว่า “นายช่างยุคใหม่ หัวใจพอเพียง” ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต
  2. เดิมประกอบอาชีพเปิดอู่ซ่อมรถ ทำนา และทำสวนยางพารา ต่อมาเริ่มศึกษาดูงานจากโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 9) ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง และแปลงเศรษฐกิจพอเพียงของ นายวิเชียร ชูสีดำ เกษตรกรดีเด่นโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง
  3. ปี 2534 มีวิสัยทัศน์ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสวนยางพารามาทำไร่นาสวนผสมในช่วงที่ยางพารามีราคาสูง ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบสวนกระแสในเวลานั้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ประกอบกับราคาข้าวตกต่ำ โดยใช้หลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการประกอบอาชีพ และมีความเอื้ออาทรต่อกัน นำไปสู่สังคมและชุมชน เป็นเหมือนรากฐานของชีวิต

 

ความพยายามฟันฝ่าอุปสรรค

นายใจ สุวรรณกิจ ประสบปัญหาน้ำท่วมฟาร์มทุกปี แต่ชีวิตไม่เคยย่อท้อ ตั้งใจประกอบอาชีพการเกษตรด้วยความอุตสาหะ อดทน โดยทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีกิจกรรมที่เกื้อกูลการใช้ประโยชน์ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก เน้นการใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่จ้างแรงงานจากภายนอก และปี พ.ศ. 2538 เลิกใช้ปุ๋ยเคมีโดยเด็ดขาด ไม่เผาตอซังและไถกลบตอซังข้าวหลังฤดูการเก็บเกี่ยว เพื่อลดภาวะโลกร้อนและอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ปลูกพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วลิสง/และปลูกปอเทือง ภายหลังฤดูทำนา เป็นปุ๋ยพืชสด ปลูกหญ้าแฝก บริเวณขอบสระน้ำ รวมน้ำในสวนและแปลงนา เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการพังทลายของดิน และปรับปรุงดิน ลดการสูญเสียธาตุอาหาร เพื่อสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศ ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อลดการสะสมของโรคแมลง เป็นคนคิดนอกกรอบ ตั้งชื่อฟาร์มว่า “สวนลุงใจ” เพื่อสร้างจุดเด่นให้ตนเอง เป็นคนขยัน หัวไวใจสู้ ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา

การพัฒนาการเกษตร

มีการจัดระบบการปลูกพืช ข้าว+พืช+สัตว์+ประมง โดยแบ่งพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 12 ไร่ 1 งาน ดำเนินกิจกรรม ดังนี้

  1. ปลูกข้าวสังข์หยด จำนวน 1 ไร่ 1 งาน (ไว้บริโภคในครัวเรือน)
  2. ปลูกยางพารา จำนวน 4 ไร่
  3. ปลูกไม้ผล จำนวน 5 ไร่ ได้แก่ มะนาว ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ละมุด กระท้อน มะม่วง ลองกอง เงาะ ทุเรียน ฝรั่ง ทุเรียนเทศ มะกรูด หมาก กล้วย มะพร้าว ส้มจุก
  4. ขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ จำนวน 2 ไร่ 700 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 3,000 คิว และขุดร่องน้ำในสวน จำนวน 7 ร่อง ขนาด 70 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 300 คิว ขุดคูรอบแปลงนา ขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 3,500 คิว เลี้ยงปลากินพืช ได้แก่ ปลากด ปลานิล ปลาตะเพียน
  5. เลี้ยงสัตว์ ประกอบด้วย เลี้ยงผึ้งโพรงไทย จำนวน 15 รัง หอยขม และร่องสวน จำนวน 1 ร่อง เป็ดไข่ จำนวน 10 ตัว ไก่ไข่ จำนวน 10 ตัว ไก่พื้นบ้าน จำนวน 25 ตัว ปลูกหญ้าแฝกรอบสระน้ำและร่องสวน จำนวน 10,000 กอ

 

การนำเทคโนโลยีมาใช้เหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

  1. ปี 2555 ได้นำดินมาตรวจวิเคราะห์ วัดค่า pH หาค่าเป็นกรด-ด่าง ของดิน และพบว่าในแปลงมีค่าความเป็นกรด-ด่าง 2 โซน คือ โซนแปลงไม้ผล มีค่าเท่ากับ 6.7 และโซนแปลงนาข้าว ค่าเท่ากับ 5.6 โดยได้รับคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดพัทลุง ให้ใส่โดโลไมต์ และปูนขาว เพื่อปรับสภาพดินให้ดินมีความเป็นกลางมากขึ้น และเหมาะสมในการทำการเกษตร โดยปลูกหญ้าแฝก ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกถั่วเป็นพืชปุ๋ยสด ไถกลบตอซัง
  2. คิดค้นเครื่องมือต่างๆ มาช่วยในการทำการเกษตร ได้แก่ ทำคันไถแบบเหล็ก (ผาล) แทนไม้ ทำให้มีความสะดวกในการเตรียมดิน ผลิตหัวไถที่ใช้กับเครื่องยนต์ โดยการปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ ใช้ง่าย รวดเร็ว ผลิตเครื่องนวดข้าว ซึ่งประยุกต์มาจากเครื่องยนต์ซึ่งลดเวลาในการนวดข้าว ประดิษฐ์อุปกรณ์ในการห่อผลกระท้อน เพื่อป้องกัน แมลงวันทอง จากวัสดุเหลือใช้ ผลิตกับดักแมลงวันผลไม้ จากวัสดุเหลือใช้
  3. มีความคิดริเริ่มเสริมรากยางพารา 2 ต้น เป็นต้นเดียวกัน โดยส่วนของต้นตอที่นำมาทาบจะทำหน้าที่เป็นระบบรากอาหารให้กับต้นพันธุ์ดี ทำให้โตเร็วไม่มีปัญหาการโค่นล้ม
  4. ใช้หลักฟิสิกส์วางท่อระบายน้ำเข้า-ออก พื้นที่ปลูกข้าวเพื่อเก็บกักน้ำ โดยไม่ต้องใช้เครื่องปั๊มน้ำ
  5. มีการจัดระบบการเลี้ยงปลาในกระชังที่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ
  6. ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นแล้วนำมาปรับปรุงตนเองเสมอ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เป็นที่รักของครอบครัวและชุมชน
  7. ปี 2558 ได้รวมกลุ่มสมาชิกในบ้านควนพระ หมู่ที่ 2 ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จำนวน 30 คน ที่มีแนวคิดลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมี
  8. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ออกใบรับรองให้ นายใจ สุวรรณกิจ ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP พืช) พ.ศ. 2555 จำนวน 3 ชนิด คือ ลองกอง มะนาว และกระท้อน (ปีที่รับรอง 2560-ปีที่หมดอายุ 2563)

ผลงาน

แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1

พื้นที่ 5 ไร่ ปลูกไม้ผล และขุดร่องน้ำ สำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ในแปลง และเลี้ยงปลา เลี้ยงหอยขม เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงผึ้งโพรงไทย เพื่อช่วยผสมเกสร และสามารถนำน้ำผึ้งมาจำหน่ายในชุมชนสร้างรายได้ให้ครอบครัว

ส่วนที่ 2

พื้นที่ 2 ไร่ ขุดเป็นสระเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และเลี้ยงปลา ประกอบด้วยปลากด ปลานิล ปลาตะเพียน และขุดร่องน้ำ สำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ในแปลง รอบๆ ขอบสระ และร่องน้ำปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เลี้ยงปลาธรรมชาติ ปลูกพืชสมุนไพร ปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคและจำหน่าย

ส่วนที่ 3

พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน ปลูกข้าวพันธุ์สังข์หยดพัทลุงเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน (ทำนา 2 ครั้ง) หลังฤดูการทำนาจะปลูกถั่วลิสง

ส่วนที่ 4

พื้นที่จำนวน 4 ไร่ ปลูกยางพารา พันธุ์ ARRIM 600 อายุ 5 ปี (ปลูกปี 2556)

  1. ผลผลิตเฉลี่ย

– ข้าวสังข์หยด ผลผลิตเฉลี่ย 450 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งเกษตรกรทั่วไป เฉลี่ย 350 กิโลกรัม/ไร่

– มะนาว ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรทั่วไป เฉลี่ย 1,800 กิโลกรัม/ไร่

– ลองกอง ผลผลิตเฉลี่ย 500 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรทั่วไป เฉลี่ย 450 กิโลกรัม/ไร่

– กระท้อน ผลผลิตเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรทั่วไป เฉลี่ย 900 กิโลกรัม/ไร่

– น้ำผึ้ง ผลผลิตเฉลี่ย 36 ลิตร/ปี

  1. ใช้วิชาการในการปรับปรุงสภาพการผลิตการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการปลูกพืชหลังนา การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด การใช้ปุ๋ยหมัก และการใช้สมุนไพรทำน้ำหมักชีวภาพไล่แมลง การใช้กับดักแมลงวันผลไม้ การเสริมรากยางพารา การห่อผลไม้ป้องกันแมลงวันทอง
  2. การวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด
  3. การนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการแปรรูปน้ำมะนาว แปรรูปน้ำมะพร้าว ทำกระท้อนทรงเครื่อง ทำขนมเค้กใบเตย เค้กมะพร้าว จำหน่ายตลาดท้องถิ่น
  4. นำสิ่งเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ทำกับดักแมลงวันผลไม้ ที่ห่อผลไม้

การจัดการ

  1. มีผังฟาร์ม/แผนและงบประมาณฟาร์ม ปฏิทินการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง
  2. มีการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีฟาร์มตลอด และแยกบัญชีเป็นรายพืช ซึ่งสามารนำมาคิดวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต และตรวจสอบย้อนหลังได้ 3 ปี
  3. ได้จัดการผลผลิต/การจำหน่าย/การตลาด โดย

–  ขายตลาดในชุมชน

–  ซื้อขายล่วงหน้า สั่งจองทางเฟซบุ๊ก ไลน์ โดยรับประกันคุณภาพสินค้า

– แปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น คั้นน้ำมะนาว น้ำมะพร้าว ขนมเค้ก มะพร้าวเค้กใบเตย กระท้อนทรงเครื่อง วางขายที่ร้านขนม

  1. ใช้แรงงานในครัวเรือนที่สอดคล้องกับกิจกรรม และขนาดฟาร์ม จำนวน 5 คน โดยมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน เช่น แรงงานในสวน แรงงานเก็บผลผลิต/จำหน่าย แรงงานแปรรูป
  2. ผสมผสานเกื้อกูลการใช้ประโยชน์ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในฟาร์ม

        สรุป รายได้/รายจ่าย (ย้อนหลัง 3 ปี)

รายการ รายได้/รายจ่าย (บาท)
ปี 2557 ปี 2558 ปี 2559 ปี 2560
รายได้ 34,480 278,500 179,400 354,550
กำไร 225,320 30,100 32,200 45,720
ต้นทุน 259,800 248,400 147,200 311,830

 

รายได้รายวัน : ได้แก่ ตะไคร้ มะกรูด มะนาว ขายในตลาดชุมชน

รายได้รายสัปดาห์ : ได้แก่ ผักบางชนิด ข่า ตะไคร้  มะกรูด ขายในตลาดชุมชน

รายได้รายเดือน : ได้แก่ ปลากด ปลาตะเพียน ปลาหมอ กบ ปลาดุก หอยขม น้ำผึ้ง ขายในตลาดชุมชน

รายได้รายปี : ได้แก่ ลองกอง กระท้อน ละมุด ส้มเขียวหวาน ส้มโชกุน ข้าวนาปี ขายในตลาดชุมชน
หมายเหตุ : ข้าวนาปี ปลูก 2 ครั้ง เพื่อบริโภคในครัวเรือน