เผยแพร่ |
---|
กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศผลการประกวดโครงการดีเด่นและชุมชนดีเด่น ตามโครงการเกษตรยั่งยืน 1 ชุมชนท่าข้าม คว้ารางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 ระดับประเทศ ด้านชุมชนดีเด่น ภายใต้การส่งเสริมของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายธาร นวลนึก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการเกษตร ยั่งยืน 1 (โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ เดิม) โดยมีหลักการสำคัญคือ ให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดโครงการพัฒนาโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและบริหารจัดการโครงการด้วยตนเอง ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการทำงานในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และนำไปปฏิบัติจริง ทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นและชุมชน อันจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคการเกษตรมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
และกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการประกวดชุมชนดีเด่นและโครงการดีเด่นภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน ระดับประเทศ โดยได้พิจารณาคัดเลือกชุมชนดีเด่น จำนวน 9 ชุมชน และโครงการดีเด่นตาม 9 ประเภทโครงการ ได้แก่ ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้านการจัดการศัตรูพืช ด้านฟาร์มชุมชน ด้านการผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง ด้านปรับปรุงบำรุงดิน และด้านอื่นๆ จำนวน 71 โครงการ เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ยกย่อง เชิดชูเกียรติ ประกาศเกียรติคุณ
ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี รับผิดชอบมีได้รับรางวัลดังนี้คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนที่ 1 ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับโล่รางวัลด้านชุมชนดีเด่น อันดับ 1 และชุมชนที่ 17 ตำบลทุ่งรัง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับประกาศเกียรติบัตร รางวัลชมเชย ด้านปรับปรุงบำรุงดิน ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช จังหวัดกระบี่ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีพเพาะเห็ดแครง ต.อ่าวลึก อ.อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ได้รับรางวัลชมเชย จังหวัดระนอง ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักเพื่อพัฒนาระบบการผลิตพืชปลอดภัยและอินทรีย์ ต.ปากจั่น อ.กระบุรี จ.ระนอง ได้รับรางวัลดีเด่น อันดับ 1 และด้านปศุสัตว์ โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ต.หาดส้มแป้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ได้รับรางวัลดีเด่นอันดับ 2 จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านการจัดการศัตรูพืช โครงการห้องปฏิบัติการอารักขาพืชชุมชนบ้านพิตำ ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ได้รับรางวัลชมเชย จังหวัดชุมพร ด้านฟาร์มชุมชน โครงการตลาดสินค้าชุมชน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ได้รับรางวัล ชมเชย จังหวัดพังงา ด้านการผลิตอาหาร การแปรรูป และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (กะปิ) ต.มะรุ่ย อ.ทัปปุด จ.พังงา ได้รับรางวัลชมเชย จังหวัดภูเก็ต ด้านประมง โครงการเลี้ยงกุ้งชีวภาพปลอดสารเคมี ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
สำหรับชุมชนท่าข้ามที่ได้รับรางวัลชุมชนดีเด่น อันดับ 1 นั้น เนื่องจากภูมิประเทศของชุมชนเป็นที่ราบลุ่ม ทำให้เกิดน้ำท่วมขังซ้ำซาก ประกอบกับเกษตรกรมีการใช้สารเคมีในการทำเกษตรติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง สภาพดินขาดความสมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เมื่อมีโครงการเกษตร ยั่งยืน 1 (โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ เดิม) สมาชิกในชุมชนจึงเกิดแนวคิดที่จะช่วยกันผลิตชีวภัณฑ์และปุ๋ยหมักใช้เองในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาสภาพดิน ลดต้นทุนการผลิตและรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งทุกกิจกรรมดำเนินการโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนผ่าน ศพก. เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เน้นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 132 ราย ผลลัพธ์ที่ได้คือ เกิดความรัก ความสามัคคี ปัญหาถูกแก้ไขโดยใช้หลักการชุมชนมีส่วนร่วม สมาชิกทุกครัวเรือนร่วมกันใช้ปุ๋ยหมักที่ผลิตได้ ไปพัฒนาดินให้อุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีกิจกรรมต่างๆ เชื่อมโยงกัน พึ่งพา เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เช่น กลุ่มผู้ปลูกผักปลูกผลไม้ กลุ่มผลิตปุ๋ย กลุ่มผลิตสารชีวภัณฑ์ กลุ่มเลี้ยงสัตว์ กลุ่มจัดการตลาดสินค้า เป็นต้น
“ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 132 ราย มีรายได้ 2,610,480 บาท (รายได้ทั้งชุมชน) ซึ่งมาจากการร่วมเป็นแรงงาน การจำหน่ายชีวภัณฑ์และปุ๋ยหมัก เกิดการขยายผลและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการผลิตสารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเคมีสั่งตัดและการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร เช่น แปรรูปผลผลิตสินค้าเกษตรและการประมงเป็นต้น มีการผลิตผัก ผลไม้ GAP จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากมั่นใจในความปลอดภัย จึงนับว่าเป็นชุมชนแบบอย่างที่มีแนวทางในการพัฒนาด้านการเกษตรให้มีความเจริญเติบโตยั่งยืน”นายธาร กล่าวทิ้งท้าย