เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจการทำบั้งไฟเพื่อขอฝนและจุดบูชาพญาแถนในงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร ที่จะจัดในวันที่ 9-13 พ.ค.นี้ โดยได้เดินทางไปยังค่ายบั้งไฟเจนจิรา ตั้งอยู่ที่กลางทุ่งนาหมู่บ้านขุมเงิน ต.ขุมเงิน อ.เมืองยโสธร ซึ่งมี นายพิมาย โชคชนะ อายุ 52 ปี เป็นหัวหน้าค่ายบั้งไฟ เมื่อไปถึงพบทีมงานค่ายบั้งไฟกำลังลงมือกันอยากขะมักเขม้นเร่งมือทำบั้งไฟแสนเพื่อส่งให้ลูกค้าที่สั่งจองไว้จำนวนหลายบั้ง
นายพิมาย กล่าวว่า ตนทำบั้งไฟมากว่า 30 ปี โดยได้รับถ่ายทอดการทำบั้งไฟมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเดิมจากที่ใช้ไม้ไผ่ทำบั้งไฟต่อมาใช้ท่อเหล็กจนปัจจุบันพัฒนามาเป็นบั้งไฟที่ทำจากท่อพีวีซี มีน้ำหนักเบาและหาได้ง่าย ซึ่งความแตกต่างของการทำบั้งไฟจากอดีตจนถึงปัจจุบันคือเวลา เนื่องจากแต่ก่อนไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยต้องใช้แรงงานคนทุกขั้นตอน โดยบั้งไฟแสน 1 บั้ง ใช้เวลาทำเกือบ 1 เดือน แต่ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีหลายอย่างมาช่วยในการทำบั้งไฟ เช่น การนำเครื่องอัดไฮโดรลิคมาใช้อัดบั้งไฟ ทำให้สามารถใช้เวลา 1 วัน ในผลิตบั้งไฟแสนได้ ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพเสริมหลักหมดฤดูการทำนา เนื่องจากรายได้จากการทำบั้งไฟแสนตกบั้งละ 10,000-15,000 บาท แล้วแต่จะตกลงว่าจ้าง
นายพิมาย กล่าวต่อว่า บั้งไฟมีโครงสร้างหลักๆ คือเลาบั้งไฟและหางบั้งไฟ โดยเลาบั้งไฟนั้นใช้สำหรับบรรจุดินปืน และหางบั้งไฟนั้นทำหน้าที่บังคับทิศทางการขึ้นของบั้งไฟ ส่วนการทำบั้งไฟตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการหาไม้เสียวมาเผาเป็นถ่าน แล้วนำถ่านมาบดให้ละเอียด จากนั้นนำดิวประสิวที่บดแล้วมาผสมคลุกเคล้ากับผงถ่านในอัตราที่แต่ละค่ายจะกำหนด จากนั้นนำดินปืนไปทดสอบโดยการจุดไฟเพื่อดูความแรงและการประทุของดินปืน ต่อมานำดินปืนบั้งไฟที่ได้มาบรรจุใส่ถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม จากนั้นนำดินปืนถุงละ 1 กิโลกรัม มาเทใส่ในท่อพีวีซีแล้วใช้เครื่องอัดไฮโดรลิค กดดินปืนให้แน่นทำแบบนี้ไปจนกว่าจะเต็มท่อพีวีซี ต่อมานำบั้งไฟมาเจาะรูตรงกลางเพื่อทำเป็นที่จุดฉนวน จากนั้นเตรียมไม้ไผ่ที่จะใช้ทำหางบั้งไฟ แล้วใช้ไฟเผาเพื่อดัดไม้ให้ตรงตามที่ต้องการ พร้อมนำไปมัดติดไว้กับไม้ดามเลาแล้วมาผูกยึดกับตัวบั้งไฟให้แน่นก็เป็นการเสร็จขั้นตอนทำบั้งไฟ ส่วนความแตกต่างของขนาดบั้งไฟจะแบ่งออกได้คือ บั้งไฟหมื่น ใช้ท่อพีวีซี ขนาด 3 นิ้ว ยาว 1.8 เมตร น้ำหนัก 22 กิโลกรัม บั้งไฟแสน ใช้ท่อพีวีซี ขนาด 5-6 นิ้ว ยาว 3 เมตร น้ำหนัก 120 กิโลกรัม และบั้งไฟล้าน ใช้ท่อพีวีซี ขนาด 8 นิ้ว ยาว 4.5 เมตร น้ำหนัก 200 กิโลกรัม
“ถ้าผมยังมีชีวิตผมก็จะทำบั้งไฟไปเรื่อยๆ เพราะมันคือจิตวิญญาณที่อยู่ในสายเลือดผม และเป็นความสุขความภูมิใจที่ได้เป็นช่างทำบั้งไฟเพื่อสืบสานฮีตคองของคนอีสานและผมพร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาทำบั้งไฟให้ลูกหลานสืบทอดต่อไป”นายช่างทำบั้งไฟ กล่าว