เสาวรส ผลไม้ต้านอนุมูลอิสระ และการอักเสบในผู้สูงอายุ

เสาวรส เป็นผลไม้เขตร้อน ที่สามารถรับประทานผลสดได้ โดยเฉพาะบางพันธุ์ที่ผลมีรสชาติค่อนข้างหวาน

ในทางการแพทย์ ส่วนของเสาวรสที่นำมาใช้ได้นอกจากผลแล้ว ยังมี ใบ ดอก เปลือก ลำต้น โดยมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์

สำหรับการนำไปใช้นั้น ในส่วนของใบจะมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ รวมถึงฮาร์แมนด้วย ซึ่งใช้สำหรับลดความดันโลหิต เป็นยาระงับประสาทและยาต้านเกร็ง

ขณะที่ดอกมีฤทธิ์ยาระงับประสาทอย่างอ่อนและช่วยให้นอนหลับ ซึ่งคนโบราณนิยมใช้การแก้ปวด บำรุงปอด

ใบสด ใช้พอกแก้หิด

ดอก ใช้ขับเสมหะ แก้ไอ

นอกจากนี้ ยังพบว่า เสาวรส มีวิตามินเอสูง ซึ่งช่วยในการบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น รักษาสภาพเยื่อบุผิว และเพิ่มสมดุลให้ร่างกาย แก้อาการนอนไม่หลับช่วยลดไขมันในเส้นเลือดและแก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

รวมถึงพบว่า มีแคโรทีนอยด์และวิตามินซีสูงกว่ามะนาว ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และยังพบโปรตีนอัลบูมิน โฮโมโลกัสในเมล็ด มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกว่า สารสกัดจากเสาวรสมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังมีรายงานเกี่ยวกับเสาวรสในเรื่องผลของการบริโภคต่อสุขภาพผู้สูงอายุไม่มากนัก ดังนั้น สกว. จึงได้สนับสนุนโครงการวิจัย เรื่อง “ผลของน้ำเสาวรสต่อการต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบในผู้สูงงอายุ” ซึ่งมี

ดร. ศุภวัชร สิงห์ทอง สังกัดคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ

ทั้งนี้ เพื่อศึกษาสารออกฤทธิ์ของเสาวรสทั้งชนิดเปลือกสีม่วง และสีเหลือง ในหลอดทดลองรวมทั้งศึกษาผลของการดื่มน้ำเสาวรสต่อความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ

ผลการวิจัยพบว่า เมื่อนำเสาวรสทั้งชนิดเปลือกสีเหลืองและเปลือกสีม่วงมาสกัดด้วยน้ำ และ 80% เอทานอล แล้วตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น เพื่อตรวจหาสารออกฤทธิ์สำคัญ พบว่า เสาวรสทั้ง 2 ชนิด มีสารรูติน (สารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติผลึกสีเหลือง) ไพโรแกลลอล (สารประกอบฟีนอลชนิดหนึ่ง) และกรดแกลลิก

นอกจากนี้ ยังพบว่า เสาวรสเปลือกสีเหลืองที่สกัดด้วย 80% เอทานอล มีปริมาณฟีนอลิกสูงที่สุด และสามารถยับยั้งอนุมูลไฮดรอกซีได้ดีที่สุด

ส่วน เสาวรสเปลือกสีม่วง ที่สกัดด้วย 80% เอทานอล มีปริมาณฟลาโวนอยด์ และมีฤทธิ์ในการกำจัดไนตริกออกไซด์สูงที่สุด

ทั้งนี้ เสาวรสเปลือกม่วง ที่สกัดด้วยน้ำกลั่น มีฤทธิ์ในการกำจัดไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์สูงที่สุด

สำหรับการศึกษาในผู้สูงอายุ พบว่า ชายและหญิงสูงอายุที่ดื่มน้ำเสาวรสเปลือกม่วงและเปลือกเหลืองตามลำดับ ปริมาณวิตามินซีในซีรัมลดลงหลังการดื่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ส่วนฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวมพบว่า ในหญิงสูงอายุมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น เมื่อดื่มน้ำเสาวรสทั้งสองชนิด

งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านผลไม้ไทย เพื่อนำมาช่วยส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ อันจะช่วยส่งเสริมให้มีการปลูกและผลิตเสาวรส รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนหันมาบริโภคเสาวรสกันมากขึ้น

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2559


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354