เผยแพร่ |
---|
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่นำร่อง ต.โป่งแดง จ.ตาก ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบกสิกรรม ด้วยศาสตร์พระราชา เหตุชาวบ้านประสบภัยแล้งหนัก เร่งสร้างความเข็มแข็งในระดับชุมชน –ส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คาด1ปี เห็นผลชัดเจน
นายประยูร อินสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบกสิกรรม ด้วยศาสตร์พระราชา (โคก หนอง นา โมเดล) นำร่องพื้นที่ลุ่มน้ำปิง จังหวัดตาก ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อขับเคลื่อนขยายผลการดำเนินงาน สร้างความเข็มแข็งในระดับชุมชน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเน้นกระบวนการที่สอดคล้องกับการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา ส่งเสริมด้านการประกอบอาชีพ กิจกรรมการผลิตและการตลาด รวมถึงให้สหกรณ์ในพื้นที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ทำหน้าที่รวบรวมและแปรรูปผลผลิต การจัดหาช่องทางตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร อีกทั้งส่งเสริมให้ประชาชนรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีความเป็นอยู่ที่ดี
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ กรมฯจึงได้เชิญผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของพระราชา พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้านที่จะนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง และสามารถนำไปส่งเสริมต่อยอดให้กับเกษตรกร ในจังหวัดตากได้ โดยได้น้อมนำศาสตร์พระราชา 3 ด้าน คือ การพัฒนามนุษย์ การพัฒนาและบริหาร การอนุรักษ์และฟื้นฟู เพื่อนับไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร เริ่มจากพื้นที่แห้งแล้งเป็นพื้นที่นำร่อง โดยเฉพาะตำบลโป่งแดง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นตำบลนำร่องในลุ่มน้ำปิง มีประชากรในพื้นที่ทั้งหมด 6,000 คน เบื้องต้นได้มีการประชุมพิจารณากำหนดแนวทางและกรอบการดำเนินงาน คัดเลือกพื้นที่และเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ พร้อมประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สร้างเครือข่ายและขยายผลการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนอย่างต่อเนื่องด้วยการนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติ โดยจะแนะนำชาวบ้านแบ่งพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน ขุดบ่อทำสระและคลอง การทำนาปลูกข้าว การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง รวมถึงจะแจกไก่ ปลาและพันธุ์พืชเพื่อส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วม โดยเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีที่ดินเป็นของตัวเอง 10 ไร่ขึ้นไป
ทั้งนี้ เหตุที่เลือกตำบลโป่งแดงเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการ เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง อยู่ด้านท้ายน้ำ ของเขื่อนภูมิพล แต่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา อาชีพเลี้ยงวัวและปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์ทั้งในรูปของหญ้าสดและหญ้าแห้ง แต่ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการเลี้ยงวัว เนื่องจากขาดแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร ส่งผลทำให้ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ดังนั้น จึงต้องร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาเข้ามาเป็นแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันศึกษาวิธีการผันน้ำจากเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง เพื่อมาช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ได้มีน้ำในการบริโภค แต่คาดว่าน่าจะผันน้ำเข้ามาพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรได้ หากมีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยเหลือชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้และชาวบ้านก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าจะเปิดรับสมัครเกษตรกรที่จะสนใจจะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ขณะนี้มีเกษตรกรส่วนหนึ่งได้เดินทางไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่เรียนรู้การทำเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว และจะกลับมาทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และร่วมขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องต่อไป สำหรับบทบาทของสหกรณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง จะเข้ามาแนะนำอาชีพต่าง ๆ และสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ จะร่วมบูรณาการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีสหกรณ์จังหวัดตาก ทำหน้าที่ประสานงานกับทุกหน่วยงานเพื่อให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จและเห็นผลลัพธ์ชัดเจนภายใน 1 ปี เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง