“สทนช.”หนุนขยายผล “สะเอียบโมเดล” ต้นแบบแผนน้ำชุมชนแก้วิกฤตท่วม-แล้ง

สทนช. เปิดสำนักงานต้อนรับ แกนนำชุมชนตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เข้าพบเลขาธิการ สทนช. เสนอแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำยมตามแบบสะเอียบโมเดล เพื่อจัดการน้ำตามแบบฉบับของชุมชน พร้อมมอบโล่เกียรติยศและเกียรติบัตรนวัตกรรมประชาธิปไตย ให้กับเลขาธิการ สทนช.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดโอกาสให้ นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ตำบลสะเอียบ จ.แพร่ และผู้นำชุมชนตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เข้าพบแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาและจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งเป็นการพัฒนาใช้หลักภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของชุมชน

ด้านนายสมมิ่ง กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินโครงการศึกษาหาทางออกแบบมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาการพัฒนาแหล่งเก็บกักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน ซึ่งเป็นการศึกษาเมื่อปี 2558 โดยกรมชลประทานประสานความร่วมมือในลักษณะภาคีเครือข่ายเพื่อหาทางออกร่วมกัน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กองทัพภาคที่ 3 จังหวัดแพร่ จังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราษฎรในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสถาบันการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร

จากความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้เกิดแนวทางการบริหารจัดการน้ำยุคใหม่ที่ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมจัดการน้ำ ดูแล ปรับปรุง และพัฒนาระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่น ประเภทชุมชน/องค์กรโดยได้รับโล่เกียรติยศและเกียรติบัตรจากทางรัฐสภา ในการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย ประจำปี พ.ศ. 2560 ด้วยเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เสียงส่วนใหญ่รับฟังความคิดเห็นและความเดือดร้อนของเสียงส่วนน้อยและร่วมหาทางออกร่วมกัน หรือเรียกว่า สะเอียบโมเดล

โดยประชาชนตำบลสะเอียบได้มีความซาบซึ้งใจที่รัฐบาลมองเห็นถึงความสำคัญในการรับฟังความต้องการ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ จึงได้เดินทางมาเข้าพบ และมอบโล่เกียรติยศ และเกียรติบัตรนวัตกรรมประชาธิปไตย ให้แก่ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้มีส่วนในการดำเนินโครงการจนนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในที่สุด

“ลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำที่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในแต่ละปีและรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาตลอดมา และจากการที่รัฐบาลได้มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศร่วมกัน สทนช.ก็พร้อมที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมโดยยึดแนวทางสะเอียบโมเดล ซึ่งที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งการพัฒนาก็สอดคล้องกันกับแผนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ และพร้อมสนับสนุนภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งน้ำของตนเองด้วย” เลขาธิการ สทนช.กล่าวในที่สุด