ผู้ส่งออกรุมซื้อสต๊อกยาง”กยท.”ป้อนจีน

ราคายางยังทรงตัวได้ดี เหตุฝนชุกผลผลิตออกน้อย รวมทั้งราคาน้ำมันดิบโลกเริ่มขยับสูงขึ้น แถมปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจจีนมีทิศทางเป็นบวกและออร์เดอร์ยาง 2 แสนตันที่จีนซื้อจาก กยท.ยังไม่ยกเลิก เผยผู้ส่งออกยางรุมตอมสต๊อก 3.1 แสนตัน ขอซื้อจาก กยท.เพียบ

แหล่งข่าวจากวงการยางพาราเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ยางพาราของไทยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคายางยังทรงตัวเคลื่อนไหวในกรอบแคบ อาทิ ยางแผ่นดิบในตลาดท้องถิ่น วันที่ 21 ก.ย. 2559 กก.ละ 50.15 บาท เพิ่มเป็น กก.ละ 51.40 บาท ในวันที่ 21 ต.ค. 2559 น้ำยางสดหน้าโรงงานจาก กก.ละ 49 บาท เป็น กก.ละ 54 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 จากกก.ละ 53.81 บาท เป็น กก.ละ 55.80 บาท สาเหตุที่ราคายางยังทรงตัวและขยับขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากฝนยังคงตกชุกทำให้ชาวสวนยางกรีดยางลำบาก ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดไม่มากนัก ในขณะที่สต๊อกยางของผู้ประกอบการมีค่อนข้างน้อย และยังมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบในตลาดยังทรงตัวสูงในระดับ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดีกว่าที่คาดจากการที่กลุ่มโอเปกอาจตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบกับรัสเซียได้ในช่วงปลายปีนี้ ทำให้ธนาคารโลก (World Bank) ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกปีหน้า โดยระบุว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2560 จะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มจากที่คาดการณ์ไว้เดือนกรกฎาคมที่ระดับ 53.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

“นอกจากนี้ยังมีข่าวดีล่าสุดจากจีนในฐานะประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลกได้ประกาศตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ยอดการค้าปลีกและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ที่ออกมาในทางบวกเหมือนกัน ซึ่งต่างจากปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ส่งออกยางของไทยมีความเชื่อมั่นในตลาดจีนมากขึ้นกว่าเดิม” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะเดียวกันสัญญาขายยาง 2 แสนตันของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้กับบริษัท ซิโนเค็ม รัฐวิสาหกิจของจีนที่มีการส่งมอบไปแล้วในลอตแรก 1.66 หมื่นตันยังคงอยู่ คาดว่าหากมีการเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเฟสแรกระหว่างไทย-จีน ในเส้นทาง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ได้ในปลายปีนี้ ก็จะมีการส่งมอบกันในส่วนที่เหลือต่อไป เพราะสัญญาซื้อขายเป็นสัญญามิตรภาพที่ผูกพันกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีข้อครหาเรื่องน้ำหนักและคุณภาพยางในการส่งมอบลอตแรกมีปัญหาไม่เป็นความจริง เพราะเรื่องนี้หน่วยงาน CCIC ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการตรวจสอบคุณภาพและน้ำหนักดูแลสัญญานี้อยู่ และถึงไม่มีการส่งมอบยางให้ซิโนเค็ม ก็มีบริษัทนำเข้าจากจีนหลายรายต้องการซื้อยางจาก กยท.อยู่

“ช่วงนี้ยางที่ออกสู่ตลาดมีน้อย เห็นได้จากผู้ประกอบการส่งออกยางพาราและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศจำนวนมากมีความสนใจซื้อยางพาราในสต๊อกของกยท.จำนวน3.1แสนตันกันมากแต่เรื่องนี้ต้องให้คณะกรรมการขายยางพาราที่มีดร.ธีธัช ขาวสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ในฐานะประธานคณะกรรมการขายยางพารากำหนดวิธีการอย่างไรบ้าง ทั้งปริมาณ คุณภาพ ราคาและอื่น ๆ เช่น คุณสมบัติผู้ซื้อ เงื่อนไขการซื้อ เป็นต้น”

ยังอุ่นใจ – ราคายางที่ทรงตัวได้ดีระดับหนึ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังต้องจับตามองกันต่อไปกับปัจจัยราคาน้ำมันดิบโลก เศรษฐกิจจีน และภาวะฝนตกว่าจะเกิดลานิญามากหรือไม่ ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยไปจนถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ก่อนหน้านี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics ได้ประเมินแนวโน้มราคายางพาราใน 1-2 ปีข้างหน้าจะยังคงทรงตัว โดยพิจารณาจาก 4 ปัจจัยคือ

ปัจจัยแรก คือ ปริมาณความต้องการใช้ โดยยางพาราส่วนใหญ่ถูกนำใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งจะเติบโตตามอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ บริษัท IHS Automotive ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่ายอดขายรถยนต์โลกในปี 2559-60 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.0-4.0% ต่อปี คาดว่าจะส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการใช้ยางพาราโลกขยายตัวประมาณ 3.0-3.5% ต่อปี

ปัจจัยที่สองคือ ปริมาณการผลิต สถาบัน International Rubber Study Group (IRSG) ผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราของโลก คาดว่าปริมาณผลิตยางพาราจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 4-4.2% ต่อปี ในช่วงปี 2559-60 ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะมาจากขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดียเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุปทานส่วนเกินยางพาราได้ในช่วงถัดไป (ผู้ผลิตรายใหญ่ได้แก่ ไทย 35.8% อินโดนีเซีย 26.1% จีน 7.1% อินเดีย 5.8% และมาเลเซีย 5.5% ของปริมาณการผลิตรวม 12.6 ล้านตัน)

ปัจจัยที่สาม คือ ปริมาณสต๊อกยางพาราจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอันมีสาเหตุหลักมาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของผู้ผลิตนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยเฉพาะผู้ผลิตอินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ก่อให้เกิดการทยอยสะสมสต๊อก ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ IRSG เก็บข้อมูลสต๊อกยางพาราของโลกมา

ปัจจัยสุดท้ายคือราคายางสังเคราะห์ที่ยังทรงตัวในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบโลกทั้งนี้ยางสังเคราะห์ถือเป็นสินค้าทดแทนยางพาราโดยผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางสามารถปรับสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในสัดส่วนที่ต้องการได้ดังนั้นผู้ผลิตยางพาราจึงต้องลดราคาขายของตนเองลงมาเพื่อให้สามารถขายแข่งกับยางสังเคราะห์ได้