ทอท.ทุ่ม 1.2 แสนล. ผุด 2 สนามบิน เชียงใหม่-ภูเก็ต แห่งที่ 2 รับ 10 ล้านคน จ่อตั้งบริษัทลูกตรวจสอบสินค้าเน่าเสีย

บอร์ด ทอท.มีมติใช้งบ 1.2 แสนล้านสร้างสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 คาดนำเสนออาคมในเร็วๆ นี้ จากนั้นเสนอ ครม.ต่อ พร้อมอนุมัติตั้งบริษัทลูกตรวจสอบสินค้าเน่าเสียเพื่อการส่งออก

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ได้มีมติอนุมัติหลักการเพื่อลงทุนในการดำเนินการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของสนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ต (ปี’61-66) วงเงินลงทุนรวม 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนแห่งละ 60,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทลูก โดยมี ทอท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อมาดำเนินงานเกี่ยวกับศูนย์ตรวจสอบสินค้าเน่าเสียเพื่อการส่งออกให้ได้ตามมาตรฐานของยุโรป

นายนิตินัยกล่าวว่า การสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของสนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ตนั้น จากผลการศึกษาเบื้องต้นของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เห็นว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 อยู่ที่ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ส่วนสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 อยู่ที่บ้านโคกกรวด จังหวัดพังงา ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 แห่งมีระยะทางห่างจากสนามบินเดิมประมาณ 20-30 กิโลเมตร โดยหลังจากนี้ ทอท.จะเสนอแผนไปยังกระทรวงคมนาคม (คค.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป และคาดว่าจะดำเนินการได้ ตั้งแต่ปี’62-66 และการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ ในปี’68

“สนามบินแต่ละแห่งจะรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 10 ล้านคน โดยหลังเสนอกระทรวงคมนาคมแล้วก็จะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป” นายนิตินัย กล่าวและว่า แม่ช่วงนี้จะใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงแต่ก็จะไม่กระทบสภาพคล่องของ ทอท.และกระแสเงินสดที่ ทอท.มีอยู่ โดยปัจจุบัน ทอท.มีเงินสดในมือกว่า 62,000 ล้านบาท และจะมีเงินสดที่เป็นกำไรยังไม่หักค่าเสื่อมเข้ามาอีกกว่าปีละ 30,000 ล้านบาท ดังนั้นงบประมาณที่จะมาใช้ลงทุนก่อสร้างจึงไม่มีปัญหาในระยะยาว แต่อาจจะมีกระทบบ้างในปี’63 ที่ต้องใช้จ่ายในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

นายนิตินัย กล่าวว่า ส่วนการจัดตั้งบริษัทลูก ศูนย์ตรวจสอบสินค้าเน่าเสียเพื่อการส่งออกนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าประสบปัญหาการส่งออกเพราะถูกตีกลับเนื่องจากสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เน่าเสีย ทอท.จึงเอาพื้นที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิมาดำเนินการเพื่อเพิ่มรายได้จากการดำเนินการที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่การบินมากขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันคาร์โก้ที่สนามบินสุวรรณภูมิใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก ประกอบกับอัตราการเติบโตของสินค้าเน่าเสียเพื่อการส่งออกมีการเติบโตมากกว่าปีละ 10% จากเดิมมีการส่งออกที่ 1.3 ล้านตัน ต่อปี มาอยู่ที่ 1.4 ล้านตัน ต่อปี

“หลังจากนี้ทางฝ่ายบริหารจะไปศึกษาและกำหนดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นว่าควรดำเนินการ 100% หรือไม่ หรือเปิดให้มีผู้ถือหุ้นอื่นๆ ด้วย จะได้ข้อสรุปและเริ่มดำเนินการภายในปีนี้ ซึ่งเป้าหมายของการจัดตั้งนอกจากจะเป็นศูนย์ตรวจสอบสินค้าและกระจายสินค้าเน่าเสียเพื่อการส่งออกแล้ว ทอท.จะทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ทั้งพม่า ลาว เวียดนามและกัมพูชา” นายนิตินัย กล่าว

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน