ผู้เขียน | หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจับมือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเวทีครั้งที่ 2 ระดมความเห็นทุกภาคส่วน รุกจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พ.ศ. 2560-2564 ฉบับที่ 2 เร่งเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ให้เป็นรูปธรรม มั่นใจ ช่วยให้ภาคเกษตรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาการจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พ.ศ. 2560-2564 ครั้งที่ 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ร่วมกับศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อร่วมกันวิเคราะห์และสังเคราะห์ในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ หลังที่ได้ร่วมกันพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา
ปัจจุบันความแปรปรวนด้านดินฟ้าอากาศมีแนวโน้มที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งรายงานจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ภาคการเกษตรเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุดและแม้ว่าที่ผ่านมาทั่วโลกจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอย่างต่อเนื่อง แต่การทำการเกษตรส่วนใหญ่ซึ่งต้องพึ่งพาสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นหลัก ยังคงเกิดความสูญเสียในแต่ละปีที่คิดเป็นมูลค่ามหาศาล
นอกจากนี้รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2557 ระบุว่า หากภาคเกษตรไม่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแล้ว ภายในปี 2593 หรือประมาณอีก 30 ปีข้างหน้า ผลผลิตเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพดในพื้นที่เขตร้อนและอบอุ่นจะมีปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 25 และส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกในอนาคต ซึ่งกระทบต่อประเทศไทยที่มีพื้นที่อยู่ในเขตร้อน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีความยั่งยืนภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นับเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก การจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร พ.ศ. 2560-2564 จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ภาคเกษตรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานทรัพยากรและสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ดังนั้นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร และคณะทำงานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ วิชาการ และฐานข้อมูล เชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 จากการระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไปสู่ความยั่งยืนภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
อนึ่ง การจัดทำยุทธศาสตร์ครั้งนี้ สศก.ได้สังเคราะห์และทบทวนผลการปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา (2555 – 2557) รวมทั้งประชุมกลุ่มย่อย ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงเกษตรฯ และภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคการศึกษา เพื่อศึกษาห่วงโซ่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางการปรับตัวของภาคการเกษตร เพื่อให้ภาคเกษตรมีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวได้ทัน