กยท.ลุ้นราคายางปีหน้าขยับขึ้น 60บ./กก.

“ธีธัช” ผู้ว่าการยางฯชี้แนวโน้มค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็ง เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ราคายางไทยมีสิทธิ์ขยับขึ้น กก.ละ 60 บาท เตรียมหารือ 10 หน่วยงานภาครัฐเพิ่มการใช้ยางในประเทศ เผยมติ 11 ประเทศผู้ผลิต

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งขึ้น เงินบาทไทยอ่อนลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะดีขึ้น กอปรกับเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น คาดว่าราคายางพาราของไทยในปีหน้าจะขยับขึ้นไปได้ถึง กก.ละ 60 บาท ในขณะที่จีนเริ่มกลับมาซื้อยางเข้าสต๊อกเพิ่มขึ้นหลังวันชาติจีนต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเดือน ก.ย.สต๊อกยางจีนเหลือประมาณ 3.5 แสนตัน ต่ำกว่าช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 3.6 แสนตัน ดังนั้นที่มีกระแสข่าวจีนไปซื้อยางอินโดนีเซียเพิ่ม ซื้อจากไทยน้อยลง จึงไม่น่ากังวล เพราะคุณภาพยางจะเป็นตัวชี้วัด

ส่วนประเด็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศปีงบประมาณ 2560 นั้น กยท.ได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว และเตรียมเชิญหน่วยงานภาครัฐมาหารือ เพื่อเดินหน้าตามนโยบายการใช้ยางในประเทศต่อไป ซึ่งหลังปิดโครงการเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กยท.รับซื้อยางเป็นจำนวน 2,892 ตัน แต่ปริมาณความต้องการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐทั้ง 10 หน่วยงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2559) มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 4,840.47 ตัน แบ่งเป็น น้ำยางข้น 3,971 ตัน และยางแห้ง 873.17 ตัน ซึ่งแต่ละหน่วยงานแจ้งความต้องการใช้ยางมายัง กยท. คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความต้องการยางในปริมาณ 399.75 ตัน กระทรวงกลาโหม มีความต้องการใช้ยางแห้งในปริมาณ 44.62 ตัน กระทรวงคมนาคม มีความต้องการใช้น้ำยางข้น ในปริมาณ 3,586.30 ตัน กระทรวงศึกษาธิการ มีความต้องการยางในปริมาณ 496.24 ตัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความต้องการใช้น้ำยางข้น ในปริมาณ 187.47 ตัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ความต้องการใช้ยางแห้ง ในปริมาณ 29.70 ตัน กทม.มีความต้องการยางในปริมาณ 96.39 ตัน สำหรับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ยังไม่มีการแจ้งความต้องการใช้ยาง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ในการประชุมสมัชชาประจำปี 2559 ของสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ The Association of Natural Rubber Producing Countries (ANRPC) ณ เมือง Guwahati รัฐ Assam ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 17-22 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม จำนวน 11 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ควรผลักดันหรือพยุงราคายาง เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยการใช้ยางพาราให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ดีและยั่งยืนที่สุด ดังนั้นการใช้ยางธรรมชาติในการทำถนนลาดยางถือเป็นอีกวิธีในเพิ่มปริมาณการใช้ยาง

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ANRPC มีข้อตกลงกันว่า ประเทศสมาชิกต้องกำหนดเป้าหมายการใช้ยางธรรมชาติในการสร้างถนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของถนนที่สร้างใหม่และซ่อมแซมในช่วง 3 ปีแรก และเพิ่มเป็นร้อยละ 100 ภายใน 5 ปี ซึ่งหากประมาณการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยของประเทศสมาชิก ANRPC เมื่อใช้ในการราดถนนทุกเส้นทางทั้งหมดแล้ว จะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านตัน โดยผู้แทนแต่ละประเทศจะต้องนำข้อเสนอแนะไปรายงานต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศตามช่องทางที่เหมาะสม “สำหรับไทยอาสาที่จะให้ความรู้ทางวิชาการและเป็นที่ปรึกษาให้กับประเทศสมาชิก เนื่องจากไทยมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมากที่สุด” ดร.ธีธัชกล่าวและย้ำว่า ในเรื่องนี้ กยท.จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาหารือ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การเพิ่มปริมาณการใช้ยางที่ยั่งยืนต่อไป

ส่วนการเร่งรัดให้บริษัท ซิโนเคม อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ของจีน มารับมอบยางจาก กยท.อีก 11 งวด งวดละ 1.66 หมื่นตัน จากทั้งหมด 12 งวดนั้น หลังจากมีการเจรจา ทางซิโนเคมฯแจ้งว่าจะชะลอการรับมอบยางในงวดที่ 2 ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวยังคงอยู่ ในช่วงเวลาตามที่ระบุในสัญญาถึงเดือน มี.ค. 2560 โดยขอฟังผลการเจรจาในเรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูงก่อน ซึ่งตัวแทนจีนยืนยันว่ามีความเกี่ยวพันกันระหว่างสองสัญญานี้ อย่างไรก็ตาม กยท.ได้ขอความชัดเจนในเรื่องของเวลาและขอให้มีการดำเนินการจ่ายเงินในส่วนของคำสั่งซื้อเดิมให้เรียบร้อย ทั้งนี้ ปัญหาการชะลอส่งมอบยางให้กับทางซิโนเคมฯไม่ส่งผลกระทบต่อ กยท.แต่อย่างใด เพราะปัจจุบันมีผู้ซื้อจากหลายบริษัทให้ความสนใจและแสดงความจำนงในการขอซื้อยางเนื่องจากเห็นว่า กยท.มีบทบาทในการเป็นตัวกลางรวบรวมยางจากเกษตรกรและปรับคุณภาพยางให้ได้มาตรฐาน และขณะนี้กำลังตกลงเรื่องเงื่อนไข ราคาการขายยางในสต๊อก 3.1 แสนตัน คาดว่าจะทราบผลประมาณสัปดาห์นี้