กรมชลฯ เดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี’61 หลังกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ยกเว้นภาคใต้ ดังนั้น กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 ที่ได้วางไว้ โดยสถานการณ์ปัจจุบัน (30 พ.ค. 2561) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวมกัน 45,848 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 60% ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 21,929 ล้าน ลบ.ม. หรือ 42% ของความจุอสามารถรับน้ำได้อีก 30,089 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,979 ล้านลบ.ม. หรือ 52% ของความจุ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 6,283 ล้านลบ.ม. หรือ 35% ของความจุ มากกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในปี 2560 ประมาณ 2,039 ล้านลบ.ม.

ส่วนแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 กรมชลประทาน วางมาตรการ ที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง เช่น การคาดการณ์และติดตามสภาวะทางอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การเก็บกัก การตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน การใช้ระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย การเชื่อมโยงข้อมูลและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ และการเลื่อนเวลาการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มเพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เป็นต้น

ส่วนมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง จะดำเนินตามแผนงานขุดลอก การซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทาน ตัดยอดน้ำหลากเพื่อป้องกันน้ำท่วมชุมชน รวมไปถึงการใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานในการควบคุมปริมาณน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตรด้วย

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั่วประเทศ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 30 พ.ค. 2561) มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.07 ล้านไร่หรือ 31% ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั้งประเทศ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกพืชไปแล้ว 3.60 ล้านไร่หรือ 47% ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนลุ่มน้ำเจ้าพระยา สำหรับการทำนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 13 ทุ่ง ปัจจุบันพื้นที่ตอนบนทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้ว 3.82 แสนไร่ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.07 แสนไร่ หรือ 62% ของพื้นที่เป้าหมายที่วางไว้ 1.15 ล้านไร่ รวมผลการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้ง 13 ทุ่ง มีการทำนาปีไปแล้ว 1.089 ล้านไร่ หรือ 71% ของแผนการเพาะปลูกที่วางไว้ทั้งสิ้น 1.532 ล้านไร่

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กล่าวว่า ได้สั่งการโครงการชลประทานทุกแห่ง ให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ พร้อมกับตรวจสอบอาคารชลประทาน ระบบชลประทานต่างๆ ในพื้นที่ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 317 ชุด รถแทรกเตอร์/รถตัก 225 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 410 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ในเขตสำนักงานชลประทานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 2,803 หน่วย

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังทำการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั้งหมด 437 แห่ง โดยทุกแห่งยังคงมีสภาพมั่นคงแข็งแรงดี ทั้งนี้ รวมไปถึงการตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา การกำจัดสิ่งกีดขวางอย่างผักตบชวา ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่สำคัญได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์