เผยแพร่ |
---|
นางชัญญา ทิพานุกะ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ย กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งยกระดับความรู้เรื่องการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ซึ่งกระจายอยู่ทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ มีเกษตรกรสมาชิกอย่างน้อย 17,640 รายทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมี ซึ่งนับเป็นปัจจัยการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรมากที่สุด
ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. มีบทบาทสำคัญเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรในชุมชนผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้และแปลงเรียนรู้ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน และให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยเบื้องต้น ทำให้เกษตรกรที่มารับบริการทราบว่าปริมาณธาตุอาหารหลักในดินของพื้นที่ตนเองนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ควรจะต้องใส่ปุ๋ยอย่างไรให้เหมาะสมกับความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ยังช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต การใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมทำให้ต้นพืชแข็งแรง ไม่อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง ทำให้ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและตัวของเกษตรกร
การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ช่วยให้เกษตรกรสมาชิก ศดปช. ลดต้นทุนการผลิตอันเนื่องจากปุ๋ยเคมี คิดเป็นค่าเฉลี่ย 27% มูลค่าถึง 43 ล้านบาท และสามารถเพิ่มผลผลิตได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% และนอกจากการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพด้วย ซึ่งผลจากการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ในข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย และมันสำปะหลัง สามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนลงได้อีก คิดเป็นต้นทุนที่ลดลงเฉลี่ย 43% นอกจากนี้ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนจำนวนหนึ่ง ยังสามารถยกระดับพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งรวบรวมและจัดหาปุ๋ยเคมี รวมทั้งแม่ปุ๋ยที่นำมาใช้ผสมให้ได้สูตรปุ๋ยตามคำแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินมาบริการให้กับสมาชิก เกิดเป็นธุรกิจชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน อีกทางหนึ่ง” ผอ.ชัญญา กล่าว