“ภาครัฐ-เอกชน” สานพลัง อุ้มชาวนาฝ่าวิกฤตราคาข้าว

รายงานพิเศษ

พร้อมกัน “เทกแอ๊กชั่น” ครั้งใหญ่สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการช่วยเหลือกลุ่มชาวนาที่ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำเหลือตันละไม่กี่พันบาท

คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมติช่วยเหลือตามโครงการ “จำนำยุ้งฉาง” ที่ตันละ 9,500 บาท พร้อมแจกแถมเงินสดอีกชุดใหญ่ทั้งเพิ่มค่ายุ้งฉางตันละ 1,500 บาท และเพิ่มเงินช่วยเหลือเป็นค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพอีกตันละ 2,000 บาท

รวมแล้วชาวนาจะได้เงินค่าจำนำยุ้งฉางตันละ 13,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีภาครัฐและเอกชนอีกส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมด้วยช่วยชาวนาในรูปแบบต่างๆ

เริ่มจาก กระทรวงพาณิชย์ โดย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ร่วมมือกับภาคเอกชนขายข้าวออกสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดูดซับผลผลิตข้าวหอมมะลิออกจากตลาดให้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของตลาดในประเทศจะส่งเสริมการขายผ่านออนไลน์ และตลาดปกติ เพื่อรองรับผลผลิตข้าวของกลุ่มเกษตรกร เช่น จะร่วมกับ ปตท. 1,464 สถานี และบางจาก เปิดพื้นที่ให้ชาวนาขายข้าว

ขณะเดียวกันจะร่วมกับ สมาคมข้าวถุง จัดส่งข้าวให้กับห้างค้าปลีกทั่วประเทศนำไปเป็นของแถม และได้ประสานกับสมาคมวินาศภัย ซื้อข้าว 25,000 ตัน เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่ลูกค้า รวมทั้งรณรงค์บริโภคข้าวครั้งใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาบริโภคข้าวหอมมะลิในประเทศ และซื้อข้าวมอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่

นอกจากนี้จะประสานไปยังพาณิชย์จังหวัดให้จัดตลาดนัดข้าวเปลือกจำนวน 102 ครั้ง ใน 42 จังหวัดที่มีผลผลิตข้าวออกมามาก เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้พบปะ

รวมถึงจะร่วมกับ ห้างเทสโก้โลตัส ที่มีสาขากว่า 6,900 สาขาทั่วโลก นำข้าวหอมมะลิไทยไปวางจำหน่าย และจะประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์การบริโภคข้าวหอมมะลิไทย

นอกจากนี้พาณิชย์ยังสนับสนุนให้กลุ่มชาวนาที่มีศักยภาพ หรือมีลูกหลานที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ สามารถจำหน่ายข้าวได้เองทั้งขายตรงหรือขายออนไลน์ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจดทะเบียนการค้า

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีโครงการสนับสนุนลูกหลานชาวนาขายข้าวทางออนไลน์ให้ผู้ซื้อโดยตรง แต่มีข่าวปล่อยทำนองว่าทำไม่ได้เนื่องจากผิดกฎหมายการค้า ทำให้พาณิชย์ต้องรีบออกมายืนยันว่าทำได้

“ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าออนไลน์ ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฏว่า สามารถดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเกษตรกรที่ต้องการขายข้าว ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ เนื่องจากไม่เข้าตามคำนิยามของผู้ประกอบพาณิชยกิจซึ่งหมายถึง การประกอบการค้าขายเป็นอาชีพปกติ” นางอภิรดีกล่าวและว่า

“ประกอบกับประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 93 ยกเว้นการจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับพาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกรด้วย ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการขายข้าวเองทางออนไลน์ ซึ่งปกติการค้าขายทางออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ แต่เนื่องจากการขายข้าวของเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ไม่เข้านิยามตามพ.ร.บ. ทะเบียนพาณิชย์ จึงไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์เช่นกัน”

รมว.พาณิชย์ บอกอีกว่า กระทรวงยินดีสนับสนุนและส่งเสริมชาวนาและกลุ่มชาวนาในการค้าข้าวผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดยมีหลายหน่วยงานของกระทรวงที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหลักสูตรพัฒนาความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจทำการค้าออนไลน์อยู่แล้ว รวมทั้งยังมีระบบสนับสนุนที่ผู้ค้าออนไลน์ต้องรู้ เช่น ระบบการชำระเงิน ระบบโลจิสติกส์ และระบบบริหารจัดการสินค้า เป็นต้น

ในส่วนของภาคเอกชนอื่นๆ เช่น นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอความร่วมมือไปยังสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดในแต่ละพื้นที่ให้หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้วยกลไกที่มีอยู่ตามความเหมาะสมให้ได้มากที่สุด อาทิ การหาเครื่องมือเครื่องจักรช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวนา เพื่อช่วยลดต้นทุน และช่วยหาช่องทางการทำตลาดเพื่อกระจายการขายข้าวให้ได้มากขึ้น

ส่วนที่เป็นเนื้อเป็นหนังและเดินหน้าชัดเจนไม่พ้น 2 ยักษ์ใหญ่ค้าน้ำมันของไทยทั้งบางจากปิโตรเลียม และปตท.

โดย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐ ช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยจัด “โครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนา” ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ ให้เกษตรกรสามารถนำข้าวสารมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคได้โดยตรงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนสามารถซื้อขายข้าวสารได้สะดวกยิ่งขึ้น

เกษตรกร ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ชุมชน โรงสีข้าวชุมชน หรือโรงสีข้าวสหกรณ์ สามารถติดต่อเพื่อนำข้าวสารมาวางจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในพื้นที่ของตนเอง ขณะนี้ทราบว่ามีเจ้าของปั๊มน้ำมันในจังหวัดบุรีรัมย์ และร้อยเอ็ดได้ติดต่อชาวนาในพื้นที่ นำข้าวสารมาวางขายที่ปั๊มบ้างแล้ว

นายเทวินทร์บอกอีกว่า ปตท. จะเพิ่มช่องทางอื่นๆ โดยจะประสานกับเครือข่ายทางธุรกิจและเกษตรกรเพื่อนำข้าวสารมาจำหน่ายในบริเวณอาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ และอาคาร เอเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดี ให้แก่พนักงาน ปตท. และบริษัทในกลุ่ม รวมทั้งข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ตลอดจนผู้มาติดต่อทั่วไป

ปตท. ยังมีแผนรับซื้อข้าวสารจากชาวนาเพื่อมามอบแทนของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาโดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วน นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากได้ร่วมสนับสนุนนโยบายรัฐบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภาวะราคาข้าวตกต่ำโดยเร่งด่วน ด้วยการรับซื้อข้าวหอมมะลิเกรดดีจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยตรงมาจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันบางจากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เบื้องต้นกว่า 100 แห่ง

“บางจากฯ รับซื้อข้าวจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 32-35 บาท แต่นำมาจำหน่ายลดราคาให้ประชาชนเพียงกิโลกรัมละ 30 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. เป็นต้นไป สำหรับเกษตรกรต่างจังหวัดสามารถติดต่อนำข้าวมาจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ในพื้นที่ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเปิดให้สมาชิกบัตรบางจากสามารถใช้คะแนนสะสม 300 คะแนน (รวมค่าจัดส่งให้ถึงบ้าน) ต่อการแลกข้าวหอมมะลิ 1 กิโลกรัม สมาชิกบัตรบางจากที่สนใจร่วมช่วยเหลือเกษตรกรติดต่อผ่านสายด่วนที่ โทร. 1651”

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรขายข้าวให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงในราคาที่เหมาะสม กรณีข้าวที่รับซื้อมาจำหน่ายไม่หมด บางจากจะนำไปมอบให้โครงการอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนในชุมชนรอบโรงกลั่นบางจาก รวมทั้งมีแผนนำข้าวหอมมะลิมาเป็นของสมนาคุณลูกค้าด้วย

ขณะที่ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และกระทรวงอื่นๆ หลายแห่ง จัดพื้นที่ให้พนักงานหรือข้าราชการที่เป็นลูกหลานชาวนา สามารถนำข้าวมาขายให้เพื่อนพนักงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

งานนี้ถือเป็นการรวมพลัง “ประชารัฐ” ครั้งใหญ่ เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่กำลังจะขาดใจตายกับราคาข้าวที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ที่มา ข่าวสดออนไลน์