“ขายตัดราคา” ปมข้าวดิ่งเหว โบ้ยโรงสีรับผิด-กรรมการลาออกยกชุด

ผ่านมาไม่ถึง 24 ชม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) นัดพิเศษอีกครั้ง โดยมีมติปรับวงเงินสินเชื่อ ชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 (จำนำยุ้งฉาง) ที่เพิ่งจะได้ข้อสรุปไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559

ข้าวล้น-ขาลง

มติดังกล่าวเป็นไปเพื่อตอบโจทย์ชาวนาไม่พอใจการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่ลากยาวมานานเกือบ2เดือนนับจากเดือนกันยายน 2559 หลังจากพบสัญญาณว่าปริมาณผลผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 ที่จะเกี่ยวปลายเดือนตุลาคมของทุกปีนั้น จะออกมาชนกับข้าวนาปรังภาคกลางซึ่งปลูกล่าช้าจากปกติ 2-3 เดือนจากเหตุภัยแล้งปีก่อน ทำให้คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะทะลัก 20 ล้านตันช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยมีปริมาณสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน อีกทั้งไทยยังมีสต๊อกข้าวสารรัฐบาลค้าง 8-9 ล้านตัน

14784016821478401694l

ขณะที่สถานการณ์ “ตลาดข้าวโลก” ดูไม่สู้ดี เนื่องจาก “ซัพพลายข้าว” ที่ล้นตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างรุนแรงทั้งระหว่างผู้ส่งออกไทย-ผู้ส่งออกต่างชาติ (เวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย) และระหว่างผู้ส่งออกไทยหน้าใหม่ที่มาจากกลุ่มโรงสี และผู้ส่งออกไทยหน้าเดิมที่เป็นเจ้าตลาด ไปขาย “ข้าวสารหอมมะลิ” ตัดราคาที่ตลาดจีน (เสิ่นเจิ้น) เหลือตันละ 650 เหรียญสหรัฐ ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี ทุบราคาข้าวสารหอมมะลิล่วงหน้าส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เหลือตันละ 18,000-20,000 บาท หรือคิดเป็นราคาข้าวเปลือกแค่ตันละ 11,000 บาท

ขณะที่ราคาส่งออกข้าวขาวเหลือตันละ 350-360 เหรียญ ทำให้ราคาซื้อข้าวสาร 5% จาก 11,500 บาท เหลือ 11,200 บาท และราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% เหลือตันละ 7,000-8,000 บาท ราคาปลายข้าวเอวันปรับลดลงจากตันละ 11,000-11,200 บาท เหลือ 10,800 บาท, ปลายข้าวซีวันจากตันละ 10,000 บาท เหลือ 9,000 บาท และรำข้าวจากตันละ 9,000-10,000 บาท เหลือตันละ 7,000 บาท 

โรงสีโต้กดราคาซื้อ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนำยุ้งฉางจะคลอดออกมาแล้ว แต่ราคาข้าวก็ยังไม่ขยับขึ้น โดยล่าสุดวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิลดไปต่ำสุดที่ตันละ 520-530 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสมาคมโรงสีข้าวไทยประกาศราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ (เกี่ยวสด) ตันละ 7,000-7,200 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิแห้ง (ความชื้น 15%) ตันละ 8,500-9,000 บาท และราคาขายส่งข้าวสารหอมมะลิ ตันละ 14,600-15,000 บาท ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเจ้า (เกี่ยวสด) ตันละ 6,400-6,500 บาท และราคาข้าวเปลือกเจ้าแห้ง (ความชื้น 15%) ตันละ 7,200-7,500 บาท และราคาขายส่งข้าวสารเจ้า 5% ตันละ 11,000 บาท และราคารำข้าวเหลือเพียงตันละ 600-650 บาท 

ไม่เพียงเท่านั้น “นายมานัส กิจประเสริฐ” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ยังได้นำคณะประกาศ “ยุติบทบาท” คณะกรรมการสมาคม (ทั้งที่เดิมทีคณะกรรมการชุดนี้สิ้นสุดวาระและมีกำหนดจะเลือกตั้งนายกสมาคมโรงสีใหม่ในเดือนมกราคมนี้) จากกระแสข่าวกดดันโรงสีว่าร่วมมือกับนักการเมืองในพื้นที่กดราคารับซื้อข้าวเปลือกหวังผลทางการเมือง 

แม้ว่า “มานัส” จะปัดว่าเหตุผลในการลาออกครั้งนี้ไม่ใช่เพราะน้อยใจฝ่ายการเมือง จากที่รัฐบาลไม่เคยฟังเสียงให้ข้อมูลอะไรไปก็ถูกบิดเบือน แถมยังสั่งทหารลงพื้นที่ตรวจสอบการตั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกของโรงสีต่าง ๆ อย่างเข้มงวด 

แต่น้ำเสียงแฝงไว้ด้วยความรู้สึกตัดพ้อว่าโรงสีเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ทำงานไม่เคยหยุดไม่เคยปฏิเสธการรับซื้อข้าวเหมือนสินค้าเกษตรชนิดอื่นทั้งที่รัฐบาลเจียดเงินชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสีน้อยนิดเพียงหลักพันล้านบาท เพื่อแลกกับการให้โรงสีใช้วงเงินเครดิตของโรงสีขอสินเชื่อมาซื้อข้าวสาร 2 ล้านตันจากเกษตรกร ซึ่งเทียบเป็นเงินถึง 80,000 ล้านบาท และสุดท้ายก็โยนความผิดว่าโรงสีกดราคา จนสถาบันการเงินเพ่ง วงเงินสินเชื่อ เรียกว่า โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เทียบกับ “ฟันเฟือง” ชิ้นอื่นที่อยู่ในสถานะลอยตัว 

จากนี้ต้องจับตามมองว่า “ความเป็นเอกภาพของสมาคมโรงสีข้าวไทย” ที่เปลี่ยนไป จะกระทบการขับเคลื่อนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวของรัฐบาล จนพาเครื่องยนต์สะดุดหรือไม่

14784016821478401748l

มานัส กิจประเสริฐ, ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์

มานัส

นายมานัส กล่าวว่า “ข้อกล่าวหาโรงสีร่วมมือกับนักการเมืองในพื้นที่กดราคารับซื้อข้าวเปลือกเพื่อหวังผลทางการเมืองไม่เป็นความจริงโรงสีทั่วประเทศรับซื้อตามกลไกตลาดตรวจสอบการทำงานได้ตลอด การหักความชื้น-สิ่งเจือปนมีมาตรฐาน ขอให้ความยุติธรรมกับเราบ้าง ถ้าดูราคาข้าวเปลือกต้องเทียบกับราคาข้าวสาร ถ้าข้าวเปลือกถูกแต่ข้าวสารแพงแปลว่ากดราคา โรงสีกำหนดราคาขายเองไม่ได้ หรือไม่ขายให้ผู้ส่งออกก็ไม่ได้ เพราะโรงสีเป็นพันโรงสภาพคล่องไม่เท่ากัน”

ศุภชัย

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวว่า “การแข่งขันรุนแรงไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกไทยเท่านั้นยังมีซัพพลายจากทั่วโลกออกมาพร้อมกัน ทั้งปากีสถาน เวียดนาม อินเดีย ทางบริษัทเสนอราคาส่งออกข้าวหอมมะลิตันละ 570-600 เหรียญสหรัฐ แต่ผู้นำเข้าแจ้งว่ามีรายอื่นราคาต่ำกว่า เรายืนยันว่าราคานี้ต่ำมากแล้ว คุณภาพก็ดีกว่า ทางผู้นำเข้าทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ยอมรับราคานี้ได้และสนใจซื้อ แต่ขอให้ส่งมอบปีหน้า เราไม่กล้ารับออร์เดอร์ เพราะประเมินแนวโน้มราคาได้ยาก”

ที่มา ประชาชาติออนไลน์