ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2559 เมื่อเวลา 07.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท. ต.สำโรง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ นายธวัช สุระบาล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวภายหลังเปิดพื้นที่ตลาดขายข้าวให้กับชาวนาที่นำข้าวมาขายให้กับประชาชนโดยตรงแล้วว่า รถเกี่ยวข้าวที่กำลังทำการรับจ้างเกี่ยวข้าวให้กับชาวนาในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ อยู่ในขณะนี้นั้น ตนได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประชุมปรึกษาหารือเพื่อหามาตรการเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่ารถเกี่ยวข้าวให้ชาวนาศรีสะเกษ ซึ่งจากการประชุมแล้ว ที่ประชุมมีมติว่าให้กำหนดคิดค่ารถเกี่ยวข้าวได้ในราคาไม่เกินไร่ละ 600 บาท เนื่องจากว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินค่ารถเกี่ยวข้าวสูงมากไปกว่านี้อย่างเด็ดขาด แต่หากว่านาบริเวณใดต้นข้าวจมน้ำ ทำให้เกิดความยากลำบากในการเกี่ยวข้าว ก็จะอนุญาตให้เพิ่มค่าจ้างรถเกี่ยวข้าวเพิ่มขึ้นตามสมควร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รถเกี่ยวข้าวฉวยโอกาสขึ้นราคาค่ารถเกี่ยวข้าวในช่วงที่ราคาข้าวเปลือกกำลังมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยรถเกี่ยวข้าวในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 3,000 คัน และห้ามไม่ให้มีการแซงคิวกันอย่างเด็ดขาด เพราะว่าหากข้าวออกมาพร้อมกันจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับราคาข้าวตกต่ำลงได้
ด้านนายสำรอง เผื่อแผ่ อายุ 65 ปี ชาวบ้านหมู่ 2 ต.สะพุง อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนทำนาปีนี้จำนวน 10 ไร่ โดยเสียค่าใช้จ่ายในการทำนา ทั้งค่าพันธุ์ข้าว ค่ายาฆ่าแมลง ค่าปุ๋ย ค่าปั่นข้าว ค่าแรงงาน รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นประมาณไร่ละ 3,800 บาท แต่ปรากฏว่า ปีนี้ฝนทิ้งช่วง ทำให้ไร่นาของตนมีต้นหญ้าขึ้นในนาจำนวนมาก ส่งผลให้ผลผลิตได้ข้าวไม่มากเท่าที่ควร และขณะนี้กำลังทำการเกี่ยวข้าวโดยเสียค่าใช้จ่ายไร่ละ 600 บาท โดยเมื่อนำเอาข้าวเปลือกไปขาย จะมีการรับซื้อข้าวเปลือกเพียง กก.ละ 6 บาท และจะมีการหักค่าความชื้นอีกด้วย ทำให้ตนขายข้าวได้เงินรวมแล้วประมาณ 3,000 บาทต่อไร่ ขาดทุนไปไร่ละ 800 บาท อย่างไรก็ตามตนและครอบครัวก็ต้องทำนาต่อไปเช่นเดิม เนื่องจากว่าการทำนาเป็นอาชีพที่ทำมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว หากจะทำให้ชาวนามีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ยากลำบากเกินไปนั้น ราคาข้าวเปลือกจะต้องมีราคาอยู่ที่ กก.ละ 11-12 บาท ตนจึงอยากขอให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเรื่องราคาข้าวเปลือกราคาตกต่ำให้มีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมโดยด่วนด้วย