สั่งอคส.เปิดรับซื้อข้าวโพดแสนตัน จ่อรีดภาษีนำเข้าข้าวสาลี-พณ.จี้ยักษ์อาหารสัตว์ช่วย

ชาวไร่ข้าวโพดเคว้ง เจอ 2 เด้ง ราคาทรุด-ไม่มีที่ขาย พ่อค้าคนกลางปิดจุดรับซื้อหนีแบกสต๊อกอ่วม ผู้ผลิตอาหารสัตว์ยืนกรานรับซื้อเฉพาะมีเอกสารสิทธิ ผู้ว่าฯเชียงใหม่-น่านเร่งแก้ ล่าสุด บิ๊กตู่สั่ง อคส.ซื้อแสนตัน ส่วนคลังเล็งขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี 15-25%

สถานการณ์ตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ในภาวะวิกฤตไม่ต่างจากราคาข้าว อาจหนักหน่วงยิ่งกว่า เพราะราคาตกต่ำมาก เนื่องจากไม่มีแหล่งรับซื้อ แหล่งขาย ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศอยู่ที่ 4.57 ล้านตัน

นายวิรัตน์ บุญคุณ นายกสมาคมการค้าผู้ปลูกข้าวโพดและพืชไร่ จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ค้าข้าวโพดมา 30 กว่าปี ปีนี้วิกฤตสุด เกษตรกรต้องต่อคิวยาวเพื่อรอขาย ซึ่งปกติข้าวโพดไม่ว่าจะถูกหรือแพงจะขายง่าย แต่ปีนี้ราคาถูกลงมากและขายยาก ตอนนี้สมาชิกสมาคมทุกคนต้องแบกสต๊อก หลายคนปิดรับซื้อเพราะซื้อเข้าแต่ขายออกไม่ได้ แต่ตนยังเปิดรับซื้อจากคู่ค้าและเกษตรกรบางส่วนในราคา 5.30 บาท/กก. นอกนั้นพิจารณาตามสภาพข้าวโพด

“เพชรบูรณ์มีพ่อค้าคนกลางกว่า 100 ราย ทุกคนมีสภาพเหมือนกันหมด ซื้อมาขายไม่ได้ ทำให้หลายรายต้องปิดการรับซื้อ ปัญหาหลักคือนำเข้าข้าวสาลีมากเกินไป กระทบเกษตรกร”

นายสถิตย์ ยะแก้ว หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตร จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า เพชรบูรณ์เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดมาก มีพื้นที่ปลูก 774,266 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 820 กก./ไร่ ต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 4,270 บาท ปีนี้คาดว่าผลผลิตทั้งหมด 634,898 ตัน ขณะที่ราคาขายปัจจุบัน 5.30 บาท/กก. ทั้งนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผลิตในประเทศไม่เพียงพอ แต่การนำเข้าข้าวสาลีทำให้เกิดผลกระทบ จึงควรมีมาตรการนำเข้าข้าวสาลี ส่วนระยะยาวเกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันสร้างยุ้งฉาง ลานตาก และเครื่องชั่งน้ำหนัก เพื่อชะลอเก็บเกี่ยวและขาย

นายสุพล ศรีทับทิม พาณิชย์ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาข้าวโพดราคาตกต่ำขณะนี้ จ.เพชรบูรณ์ได้นำเสนอส่วนกลางไปแล้ว ให้พิจารณาแก้ไขเชิงนโยบายเรื่องการนำเข้าข้าวสาลี พร้อมเสนอให้ทุกโรงงานทั่วประเทศรับซื้อข้าวโพดในราคา 8 บาท/กก. และให้รัฐบาลใช้ฐานข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรปี 2552/2553

เช่นเดียวกับที่นายวุฒิไกร กุลกัลไชย นายกสมาคมผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน ระบุว่า ขณะนี้พ่อค้าคนกลางส่วนใหญ่หยุดรับซื้อข้าวโพด เพราะไม่สามารถระบายสต๊อกเดิมออกได้ คาดว่าปี 2559 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 5 แสนตัน จำหน่ายแล้ว 1 แสนตัน กำลังรอระบาย 2 แสนตัน และอยู่ในไร่อีก 2 แสนตัน หากหยุดรับซื้อนานจะกระทบทำให้เศรษฐกิจน่านชะลอตัวหนัก เพราะข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก

ขณะที่นายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการ จ.น่าน เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ประชุมร่วมกับภาครัฐ เอกชน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ระยะสั้นจะมีเอกชนเข้ามารับซื้อข้าวโพดเป็นฝัก ในราคา 3.50 บาท/กก. ความชื้นไม่เกิน 30% การซื้อขายจะอยู่ในรูปแบบการสีเป็นเมล็ด 100 ตัน แนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว ผู้รับซื้อรายใหญ่จะรับซื้อข้าวโพดเฉพาะในพื้นที่ที่ปลูกในที่ดินมีเอกสารสิทธิ ที่มีหนังสือรับรองจากผู้ว่าราชการ จ.น่าน ว่าไม่ได้บุกรุกป่า

ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้นไม่เกิน 30% ราคาอยู่ที่ 3.60-3.70 บาท/กก. โรงงานอาหารสัตว์บางแห่งกำหนดให้เกษตรกร พ่อค้ารายย่อย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร ที่นำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปจำหน่ายต้องมีเอกสารสิทธิ และรอคิวจำหน่ายราว 6 วัน และรับซื้อได้สูงสุดวันละ 1,000-1,200 ตัน แนวโน้มราคาจะลดลงต่อเนื่องอีก เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์ส่วนใหญ่มีสินค้าคงค้างในสต๊อก รับซื้อได้จำกัด

ปีนี้เชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราว 179,383 ไร่ ผลผลิต 119,649 ตัน ปลูกมากที่สุดที่ อ.แม่แจ่ม เชียงดาว และแม่อาย จะเก็บเกี่ยวผลผลิตเดือน ต.ค. 2559-ก.พ. 2560 ซึ่งเชียงใหม่มีพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิเพียง 5%

ล่าสุดได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น โดยสำรวจความต้องการและปริมาณการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปีการผลิต 2559/2560 ของผู้ใช้ใน จ.เชียงใหม่ 6 แห่ง สามารถรับซื้อได้ 3,200 ตัน/เดือน ได้แก่ 1.บจ.รวมพรมิตรโภคภัณฑ์ 2,000 ตัน/เดือน 2.สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน 500 ตัน/เดือน 3.บจ.เชียงใหม่ ฮิวโมสท์ 1 ตัน/เดือน 4.บจ.ลิ้มศักดากุลอุตสาหกรรม รับซื้อได้ไม่จำกัด 5.นายสมพล ยศเดช 75 ตัน/เดือน 6.บจ.มงคลแอนด์ซันส์ฟาร์ม 135 ตัน/เดือน

ขณะนี้ได้ให้สำนักงานเกษตร จ.เชียงใหม่ สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ตรวจสอบข้อมูลของเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนฯ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตอนุรักษ์ฯว่า เกษตรกรที่มีรายชื่อขึ้นทะเบียนตามมติ ครม. ปี 2540 และปี 2541 มีจำนวนเท่าใด ให้นำมาแสดงต่อผู้รับซื้อข้าวโพด ดังนั้นต้องแยกประเด็นพื้นที่เอกสารสิทธิ และผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามมติ ครม. 2541 ให้ชัดเจน เพราะเขาอยู่กับป่าและมีสิทธิ์ทำกินในป่านั้น

นายจรัญ อุปนันท์ ประธานสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม เปิดเผยว่า ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่นำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศมาผลิตอาหารสัตว์ กระทบผู้ปลูกข้าวโพดอย่างมาก ทำให้รายได้ใน อ.แม่แจ่ม ลดลงถึง 50% หรือ 50 ล้านบาท จากเดิมมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 100 ล้านบาท/ปี

ด้านนางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการโรงงานอาหารสัตว์ ขอความร่วมมือเข้ารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรปีการผลิต 2559/2560 ส่วนเกินปริมาณ 300,000 ตัน โดยผู้ผลิตรายใหญ่กลุ่มซีพี ยินดีช่วยรับซื้อ 150,000 ตัน อีก 150,000 ตัน จะกระจายให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายเล็กรายกลางอีก 20 โรงงาน ในราคา 8 บาท/กก. อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิประกอบการขายให้โรงงาน เพราะหากเป็นข้าวโพดที่ปลูกในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ จะกระทบทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์และกลุ่มปศุสัตว์ไม่สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ได้ จะเกิดปัญหาราคาเนื้อสัตว์ตกต่ำขายได้เฉพาะในประเทศ

“ยอมรับว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดไม่มีเอกสารสิทธิมีกว่า 50% อาจขายไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจโรงงานด้วย แต่หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางออกช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่ให้บุกรุกพื้นที่ป่า ส่วนกรณีปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี ขึ้นอยู่กับคลัง”

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากที่ได้หารือปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาตกต่ำ เห็นว่าต้นเหตุมาจากให้นำเข้าข้าวสาลีภาษี 0% คลังจึงจะพิจารณาปรับขึ้นภาษี อาจจะ 15% หรือเต็มเพดาน 25% และมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะออกมาตรการเร็ว ๆ นี้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์