ชงแผน 2 อุ้มราคาข้าวทั่วปท. ก.พาณิชย์เสนอบิ๊กตู่ช่วย”ข้าวขาว”ด่วน

“สมคิด” สั่งพาณิชย์หามาตรการ “อุ้ม” ข้าวขาว หลังรัฐทุ่ม 27,400 ล้านบาทจำนำยุ้งฉางหอมมะลิเริ่ม 20 พ.ย. ปลัดพาณิชย์แจง 3 โครงการช่วยชาวนากำไรตันละ 4,000 บาท วงการค้าข้าวชี้ มาตรการเฉพาะหน้าช่วยได้แค่ “สกัด” ไม่ให้ราคาข้าวหอมมะลิดิ่งเหว สุดท้ายรอ “ออร์เดอร์” ใหม่

แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) จะมีมติเพิ่มราคาเฉลี่ยข้าวหอมมะลิในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2559/2560 จากเดิมที่ราคา 9,700 บาท/ตัน เป็น 11,000 บาท/ตัน ส่งผลให้ชาวนาได้รับเงินจากโครงการเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 13,000 บาท (รวมเงินช่วยเหลือเก็บเกี่ยว-ขึ้นยุ้งฉาง) แล้วก็ตาม แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมไปถึงข้าวขาว หรือข้าวชนิดอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวใหญ่ของประเทศ มีแต่เพียงการนำโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก “ปัดฝุ่น” ออกมาใช้ไปพลาง ๆ ก่อน

ชาวนากำไร 4,000 บาท

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี 2559/2560 นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 มีการดำเนินโครงการ 3 โครงการด้วยกัน คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2559/2560 (จำนำยุ้งฉาง) ของ ธ.ก.ส., โครงการให้โรงสีซื้อข้าวเข้าเก็บเพื่อชดเชยดอกเบี้ย 3% (โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเก็บสต๊อก) และโครงการที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศช่วยซื้อข้าวสารอีก 200,000 ตัน ทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศปรับตัวดีขึ้น “ชาวนาจะขายข้าวได้ราคาใกล้เคียงราคาเฉลี่ยที่ตันละ 11,000 บาท”

ทั้งนี้ โครงการรับจำนำยุ้งฉาง ธ.ก.ส.จะรับจำนำข้าวหอมมะลิจากชาวนาตันละ 9,500 บาท (ราคาเฉลี่ย 11,000 บาท) รวมกับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว-ค่าขึ้นยุ้งฉาง (3,500 บาท/ตัน) กับมาตรการช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิตก่อนหน้านี้ (คำนวณไว้ประมาณ 3,700 บาท/ตัน) เชื่อว่าชาวนาจะมีรายรับในการขายข้าวไม่ต่ำกว่าตันละ 15,000-16,000 บาท จากต้นทุนการผลิตที่ตันละ 10,400-10,800 บาท นั้นหมายถึงชาวนามีกำไรจากการขายข้าว หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลตันละ 4,000 บาท

สำหรับชาวนาที่ไม่มียุ้งฉาง ซึ่งจะรวมถึงชาวนาผู้ปลูกข้าวพันธุ์ กข.15 และหอมมะลิ 105 นอกเขต 23 จังหวัด หรือเดิมเรียกกันว่า ข้าวหอมจังหวัด นั้นก็จะได้เงินช่วยเหลือเฉพาะค่าเก็บเกี่ยวข้าว และปรับปรุงคุณภาพข้าว จาก ธ.ก.ส.ตันละ 2000 บาท แต่หากบวกกับระดับราคาตลาดข้าวที่ปรับสูงขึ้นเป็น 11,000 บาท เท่ากับชาวนาจะมีรายได้จากการขายข้าวประมาณ 13,000 บาทเช่นกัน ส่วนข้าวเปลือกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขายได้ในราคาตันละ 5,000-6,000 บาท คาดว่าจะมีปริมาณ 5% ของผลผลิตข้าวทั้งหมด ซึ่งข้าวในส่วนนี้ชาวนาสามารถแจ้งรับประกันภัยนาข้าวได้กับ ธ.ก.ส. เพื่อรับเงินชดเชยตันละ 1,100 บาท ตามที่รัฐบาลประกาศก่อนหน้านี้

“เมื่อคืนได้คุยกับกลุ่มโรงสีถึงกรณีที่กรรมการสมาคมโรงสีข้าวไทยลาออก(รายละเอียดหน้า 6) มั่นใจว่าจะไม่กระทบการดำเนินมาตรการของรัฐบาล โรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการกับรัฐบาลก็ยังยืนยันที่จะเข้าร่วม เมื่อชาวนานำข้าวมาถึงหน้าโรงสีคงไม่มีใครปฏิเสธการรับซื้อข้าวแน่” นางวิบูลย์ลักษณ์กล่าว

ออร์เดอร์ใหม่ยังอยู่ในอากาศ

จากปริมาณข้าวหอมมะลิปีนี้ที่ออกสู่ตลาดมากเป็นประวัติการณ์ถึง10.7 ล้านตันข้าวเปลือก หรือสีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 4 ล้านตันข้าวสาร ยังต้องแข่งขันทางด้านราคากับประเทศอื่น ๆ ล่าสุดเวียดนามส่งออกข้าวเกรดใกล้เคียงกับหอมมะลิไทยเฉลี่ยตันละ 440 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 650 เหรียญ แต่ข้าวไทยมีคุณภาพดีกว่า ดังนั้นราคานี้จึงเป็นราคาที่ข้าวหอมมะลิไทยสามารถแข่งขันได้

“จากการหารือกับผู้ส่งออกคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายการส่งออกข้าวหอมมะลิจะเพิ่มขึ้นเป็น 250,000-300,000 ตัน/เดือน เพราะหลายประเทศมีความต้องการซื้อเพิ่ม เช่น ฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลข้าวอีก 250,000 ตัน มาเลเซียคาดว่าจะมีการซื้อปลายเดือนนี้ต่อเดือนหน้า ส่วนอินโดนีเซียยังต้องรอความชัดเจนทางการเมืองก่อน และตลาดจีน-ฮ่องกงที่จะเข้ามาสั่งซื้อข้าวเพื่อใช้ในเทศกาลตรุษจีนปี”60 เร็วขึ้น นอกจากนี้ทางกระทรวงยังจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่จะดึงผู้ซื้อข้าวประมาณ 150 รายจากทั่วโลกเข้ามาเจรจาซื้อขายในระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะได้รับคำสั่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้น”

แผน B รับข้าวหลุดจำนำ

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะเริ่มดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี 2559/2560 (จำนำยุ้งฉาง) วงเงินรวม 27,410 ล้านบาท ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ พร้อมประมาณการจะมีข้าวเข้าโครงการประมาณ 2 ล้านตัน จากที่ปีแล้ว 544,000 ตัน โดยเกษตรกรจะมาไถ่ถอนคืนได้ภายใน 5 เดือน หากราคาข้าวดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะอุดหนุน ธ.ก.ส. เป็นค่าบริหารสินเชื่อ 2% ระยะเวลา 6 เดือน เป็นเงิน 237.34 ล้านบาท เนื่องจาก ธ.ก.ส.ไม่คิดดอกเบี้ยเกษตรกร 5 เดือน

ส่วนโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวแก่ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิปีการผลิต2559/2560 วงเงิน 19,375 ล้านบาท จะใช้งบประมาณของรัฐบาล แต่ให้ ธ.ก.ส.ออกเงินไปก่อน เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบฯปี 2560 ไว้ และรัฐจะชดเชยให้ FDR+1 (ปัจจุบัน FDR 1.225%) เป็นเงินสูงสุด 439.21 ล้านบาท ให้กับ ธ.ก.ส.

“หลักการในโครงการนี้ก็คือจะไม่แทรกแซงราคา เราประเมินว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ ประมาณ 2 ล้านราย จากต้นทุนผลิตข้าวหอมมะลิของกรมการข้าวอยู่ที่ 10,400 บาท/ตัน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คิดราคาทอนกลับจากราคาซื้อขายข้าวล่วงหน้าเดือนธันวาคมที่ 9,700 บาท ขณะที่ ธ.ก.ส.จะรับจำนำยุ้งฉางไว้ที่ราคาตันละ 9,500 บาท” นายลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ตามหลังจากครบ 5 เดือน ถ้าราคาข้าวหอมมะลิในตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่า 9,500 บาท ชาวนาก็จะมาไถ่ถอนและชำระหนี้ แต่หากราคายังไม่สูงกว่าราคารับจำนำ และชาวนาไม่ไถ่ถอนข้าวคืน ทางคณะกรรมการธนาคารที่มี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้กำหนดแนวทางการสนับสนุนกระบวนการสหกรณ์การเกษตร-วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร รวบรวม/แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว หรือเรียกว่าเป็น “แผน B” ซึ่งจะเสนอบอร์ด ธ.ก.ส.ในเดือนธันวาคมนี้

ส่วนข้าวเปลือกชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากข้าวหอมมะลิที่กำลังออกสู่ตลาดนั้น นายลักษณ์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับสมาคมธนาคารไทย เตรียมสินเชื่อ 80,000 ล้านบาท ให้โรงสีใช้เป็นสภาพคล่องเข้าซื้อข้าวและให้เก็บข้าวไว้รอการขาย 6 เดือน โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ครอบคลุมข้าวเปลือกที่เหลืออยู่ประมาณ 8 ล้านตันทั่วประเทศ

ความหวังเดียว G to G จีน

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำของรัฐบาล ที่มีการดำเนินโครงการ 3 โครงการในขณะนี้ว่า เป็นการแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำลงเฉพาะหน้าเท่านั้น จากเหตุผลที่ว่าในเดือนพฤศจิกายน จะมีข้าวเปลือกออกสู่ตลาดสูงสุดถึง 14.96 ล้านตันข้าวเปลือก จากจำนวนผลผลิตทั้งหมด 24.97 ล้านตันข้าวเปลือก ประกอบกับช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวจากประเทศผู้ส่งออกหลักในเอเชีย (อินเดีย-ปากีสถาน-เวียดนาม) ซึ่งผลิตเพิ่มขึ้นออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับผลผลิตข้าวไทยได้ โดยผลผลิตที่ออกมากขึ้น ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ประเทศผู้ซื้อข้าวชะลอคำสั่งซื้อเพื่อประเมินสถานการณ์ รวมไปถึงความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลงด้วย

“ข้าวในประเทศออกมาประดังในช่วงเดียวกัน ประกอบกับการแข่งขันราคาในตลาดโลกมีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวไทยต้องแข่งขันทั้งกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นโดยเฉพาะเวียดนาม กับขายแข่งกันเอง จนเกิดปรากฏการณ์ขายตัดราคา ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิดิ่งลงเหลือประมาณ 580 เหรียญ/ตัน หันมากดดันราคาข้าวภายในประเทศไม่ถึงตันละ 10,000 บาท ผู้ส่งออกข้าวหลายรายกับโรงสีบางกลุ่มก็ขาดสภาพคล่อง เพราะแบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทางเดียวที่จะทำให้ราคาข้าวในประเทศกระเตื้องขึ้นมาก็คือ ต้องมีคำสั่งซื้อใหม่ ๆ เข้ามา แต่ขณะนี้ยังไม่เห็น มีแต่คาดการณ์ว่า ฟิลิปปินส์-ฮ่องกง-จีน-อินโดนีเซียจะเข้ามาซื้อข้าว” แหล่งข่าวกล่าว

ดังนั้นความเป็นไปได้ก็คือ ทุกคนกำลังรอคำสั่งซื้อข้าวใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำสั่งซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ของจีน (COFCO) คำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์ กับอินโดนีเซียเป็นหลัก หากมีคำสั่งซื้อเข้ามาจะช่วยสถานการณ์ทางด้านราคาข้าวในประเทศดีขึ้น

หอมมะลิอีสานหยุดตก

ด้านนายวิชัยศรีนวกุล อดีตอุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ซึ่งรับผิดชอบงานหัวหน้ากลุ่มโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้โครงการจำนำข้าวยุ้งฉางว่า ราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้น กล่าวคือราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ (ความชื้น 15%) วันที่ 4 พ.ย. อยู่ที่ตันละ 9,500-10,000 บาท หรือสูงขึ้นจากวันที่ 3 พ.ย. ที่ราคา 9,000-9,500 บาท ขณะที่ราคารับซื้อข้าวสารหอมมะลิตันละ17,500-18,000 บาทเพิ่มขึ้นจากวันที่ 3 พ.ย. ที่รับซื้อตันละ 15,000 บาท

“ราคาข้าวช่วงเดือนตุลาคมลดลงมาก เพราะโรงสีและผู้ส่งออกที่แข่งขันซื้อน้อยราย แต่พอถึงเดือนพฤศจิกายน โรงสีเดินหน้าผลิตเต็มที่แล้ว 70-80% ผลผลิตข้าวที่ทยอยออกช่วงพฤศจิกายนก็ค่อนข้างดีขึ้น ประกอบกับการกำหนดมาตรการส่งผลให้ผู้ส่งออกที่รับออร์เดอร์ขายข้าวล่วงหน้าหันกลับมาเร่งระดมซื้อข้าว เพราะกลัวราคาข้าวจะขยับสูงขึ้นไปจนทำให้ขาดทุนจากราคาที่รับออร์เดอร์ไว้ ทำให้ราคาวันนี้ปรับขึ้นเร็วถึง 500 บาท/ตัน หากรัฐบาลสามารถรักษาระดับราคาเช่นนี้ต่อเนื่องจากวันที่ 15-25 พฤศจิกายน ราคาข้าวหอมมะลิก็น่าจะไม่ลดลงแล้ว”

ส่วนการประกาศลาออกของกรรมการสมาคมโรงสีข้าวไทยนั้น “จะไม่กระทบกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐ” โดยเชื่อว่าจำนวนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าว เพื่อรับชดเชยดอกเบี้ย 3% จะไม่น้อยกว่าปีก่อน หรือประมาณ 300 แห่ง มีโอกาสที่จะเข้าไปรับซื้อข้าวได้ประมาณ 2 ล้านตัน หากได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อจากธนาคารตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ 80,000 ล้านบาท ส่วนโครงการรับจำนำยุ้งฉางในปีนี้ประเมินว่า ชาวนาจะจำนำยุ้งฉางกับ ธ.ก.ส.อยู่ระหว่าง 800,000-1.2 ล้านตัน

ขณะที่แหล่งข่าวจากโรงสีภาคกลางกล่าวว่า ระดับรับซื้อข้าวขาว 5% ของผู้ส่งออกในวันที่ 4 พ.ย.นี้ “ทรงตัว” ตันละ 11,000 บาท หรือบางแห่งปรับขึ้นเล็กน้อยประมาณตันละ 200 บาท ส่วนข้าวปทุมธานี ตันละ 12,500 บาท

ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการหามาตรการช่วยเหลือชาวนาในระยะต่อไป หลังจากช่วยเหลือกรณีข้าวหอมมะลิ (โครงการจำนำยุ้งฉาง) ไปแล้ว โดยตนได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมเสนอแผนการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มข้าวขาวและข้าวโพด เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาพร้อมกันเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ ในวันที่ 5-6 พ.ย.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมเพื่อเตรียมการจัดทำแผน 2 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

บิ๊กธุรกิจปันน้ำใจ…ช่วยชาวนา

ปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่เกิดขึ้น มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ ด้วยการรับซื้อข้าว เปิดพื้นที่จำหน่ายข้าว รวมไปถึงแนวทางอื่น ๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือชาวนาได้

บริษัทใหญ่โดดช่วยชาวนา

“เทวินทร์ วงศ์วานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. จัดโครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนา นำมาวางขาย ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้าวสารมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคได้โดยตรงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทั้งที่อาคาร ปตท.สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดี ปตท.ยังมีแผนรับซื้อข้าวสารจากชาวนาเพื่อมามอบแทนของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วย

เช่นเดียวกับ “บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)” ได้รับซื้อข้าวหอมมะลิเกรดดีจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยตรง เพื่อนำมาจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันบางจากในกรุงเทพฯและปริมณฑลกว่า 100 แห่ง โดยจะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 32-35 บาท แต่นำมาจำหน่ายลดราคาให้ประชาชนเพียงกิโลกรัมละ 30 บาท โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป

อีกทั้งยังเปิดให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในต่างจังหวัดสามารถติดต่อนำข้าวมาจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันบางจากในพื้นที่ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเปิดให้สมาชิกบัตรบางจากสามารถใช้คะแนนสะสม 300 คะแนน (รวมค่าจัดส่งให้ถึงบ้าน) ต่อการแลกข้าวหอมมะลิ 1 กิโลกรัม และในเร็ว ๆ นี้ บางจากจะนำข้าวหอมมะลิมาเป็นของสมนาคุณลูกค้า

“กลุ่มทรู” สนับสนุนนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยการเปิดช่องทางจัดจำหน่ายข้าวไทยที่เครือเจริญโภคภัณฑ์รับซื้อจากชาวนาโดยตรง ในราคาต้นทุน ณ ทรูช้อป และทรูคอฟฟี่ รวมกว่า 300 สาขาทั่วประเทศ โดยจะเปิดจำหน่ายตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนนี้

ภาคการศึกษาระดมกำลัง

“กระทรวงศึกษาธิการ” มีนโยบายให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีโรงสีข้าวเปิดให้บริการสีข้าวเปลือกแก่ชาวนาในพื้นที่ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างสีข้าว

สถานศึกษาสังกัด สพฐ.ที่มีเครื่องสีข้าวจะเป็นกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 37 แห่ง มี 18 แห่งที่มีเครื่องสีข้าวขนาดใหญ่ และสามารถสีข้าวได้ 2 ตันต่อวัน และกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วกษ.) สังกัด สอศ. จำนวน 4 แห่งที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องข้าว ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีใน จ.พิจิตร จ.ยโสธร จ.พัทลุง และ จ.พังงา

ขณะที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดกิจกรรมการเปิดพื้นที่นำร่องให้ชาวนาเครือข่ายขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภค โดยในระยะแรกมีเครือข่ายชาวนาจาก จ.ปทุมธานี จ.สุพรรณบุรี และ จ.ลพบุรี นำข้าวมาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคเป็นจำนวนกว่า 2 ตัน ในบริเวณพื้นที่ตลาดนัดวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และเตรียมให้นักศึกษาช่วยชาวนาพัฒนาและบริหารการตลาดออนไลน์

“มหาวิทยาลัยรังสิต”
ให้ชาวนาที่อยู่ในพื้นที่บริเวณหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี นำข้าวเปลือกมาสีได้ที่โรงสีข้าวหนองสาหร่าย ซึ่งอยู่ในโครงการนวัตกรรมนาข้าว ชาวนาอัจฉริยะ พร้อมเปิดพื้นที่ให้นำข้าวสารมาขายในมหาวิทยาลัย

“ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์”
คณบดีคณะกายภาพบำบัด ม.รังสิต หนึ่งในคณะกรรมการช่วยเหลือชาวนา เปิดเผยว่า ม.รังสิตอยู่ระหว่างการจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายข้าวออนไลน์ นักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงินจากราคาข้าวตกต่ำ มหาวิทยาลัยมีโครงการช่วยเหลือโดยเฉพาะ จะให้นักศึกษาแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการ โดยจะพิจารณาเป็นรายบุคคล และดูสถานการณ์ที่เกิดกับครอบครัวเป็นหลัก นักศึกษาที่ทางบ้านอยู่ในภาวะวิกฤต ม.รังสิตจะให้ทุนการศึกษา อาจจะเป็นทุนสนับสนุนเต็มจำนวนตลอดระยะเวลาการศึกษา หรือ 1-2 ปี แล้วแต่กรณี

“ส่วนนักศึกษาที่ทางครอบครัวยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จะให้เขานำข้าวมาจ่ายเป็นค่าหน่วยกิต เน้นการนำข้าวมาแปลงเป็นทรัพย์สิน เช่น ให้นำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสาร หรือมหาวิทยาลัยอาจหาตลาดในการรับซื้อข้าวให้ แล้วนำเงินที่ได้จากการขายข้าวนำมาจ่ายเป็นค่าหน่วยกิต โครงการจะมีผลในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2559 คาดว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 100-200 ราย”

ด้าน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มีโครงการลูกชาวนาถึงเวลาช่วยพ่อ โดยเปิดพื้นที่บริเวณโรงอาหารกลางให้ลูกชาวนาและชาวนามาขายข้าว สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง โดยคัดเลือกลูกชาวนาจาก มก.เป็นอันดับแรก ส่วนชาวนาอื่น ๆ จะคัดเลือกจากฐานข้อมูลที่ มก.รู้จัก อย่างเครือข่ายชาวนาที่มหาวิทยาลัยเคยจัดฝึกอบรมมาก่อน หรือชาวนาจากวิสาหกิจชุมชนที่กรมการข้าวเคยพามาขายข้าวในงานเกษตรแฟร์ โดยจะเปิดบริการรับคำสั่งซื้อข้าวล่วงหน้า และบริการส่งถึงที่ทำงานในมหาวิทยาลัย งานเกษตรแฟร์ปีนี้จะมีโซนสำหรับชาวนามาขายข้าวโดยตรง

เปิดพื้นที่ขายข้าวทั่วประเทศ

“จังหวัดกาญจนบุรี” เปิดตลาดข้าวชาวกาญจน์ในทุกวันพุธ บริเวณลานข้างศาลากลาง และทุกวันเสาร์ที่ร้าน Farm Outlet ตรงข้ามสถานีตำรวจภูธร ส่วน “เทศบาลนครอุดรธานี” ก็ได้จัดพื้นที่ให้เกษตรกรนำข้าวมาขายฟรีบริเวณถนนคนเดินทุกวันศุกร์และวันเสาร์

“จังหวัดเชียงราย” ได้เปิดให้จำหน่ายข้าวสารราคาย่อมเยา ณ ศาลากลางมาแล้ว 2 ครั้ง ปริมาณ 26 ตัน รวมทั้งนำไปขายที่ตลาดเกษตรกรดอยตอง ค่ายเม็งรายมหาราชทุกวันศุกร์ และให้แต่ละอำเภอนำผลผลิตไปวางจำหน่ายให้ผู้บริโภคในราคาย่อมเยาทั้ง 18 อำเภอ บริษัทในเครือสินธานีกรุ๊ป ได้รับซื้อข้าวจากสหกรณ์การเกษตร 4 แห่งในจังหวัด ในรูปแบบข้าวสารบรรจุถุง ถุงละ 5 กก. ปริมาณ 10 ตัน รวมมูลค่า 330,000 บาท เพื่อนำไปมอบให้กับลูกค้า

“จังหวัดมหาสารคาม”
นอกจากการจัดโครงการคนสารคามกินข้าวสารคาม จัดหาพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายในทุกอำเภอแล้ว ภาคธุรกิจยังได้เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำข้าวมาจำหน่ายหรือฝากขายได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ ห้างเสริมไทยคอมเพล็กซ์ ปั๊มน้ำมัน ปตท.อิสาณบริการจำนวน 4 สาขา และหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม ที่ให้นำข้าวมาวางจำหน่ายในตลาดไนท์บาซาร์ทุกวันศุกร์และวันเสาร์

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์