‘กฤษฎา’ ผุดกองทุนช่วยเกษตรกร มั่นคงเท่าขรก.-งบก้นถุง 2.9 พันล.

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รวบรวมปัญหาของเกษตรกรเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว พบปัญหาหลักๆ อาทิ มีการลงทุนสูงแต่รายได้ต่ำ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นต้น สภาพปรากฏขณะนี้คือเกษตรกรเป็นผู้สูงอายุไม่วางแผนเพาะปลูก ยากต่อการรับองค์ความรู้ใหม่ ทำตามความเคยชินขาดมุมมองการตลาด นิยมปลูกอย่างเป็นอิสระ ขาดการรวมตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต แม้มีแหล่งเงินทุนโดยเฉพาะ ธ.ก.ส. แต่ขาดแผนการเงินที่ดี จึงเกิดการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เมื่อถึงคราวต้องเพาะปลูกจึงต้องไปกู้เงินนอกระบบ และไม่ทำบัญชีกำไรขาดทุน และกว่าครึ่งไม่มีที่ดินทำกิน จึงขาดแรงจูงใจในการดูแลสภาพดิน และเมื่อผลผลิตออกมา เกษตรกรส่วนใหญ่ให้พ่อค้ามาถึงขาดการรวมตัวเพื่อต่อรองราคา และขาดอุตสาหกรรมแปรรูปใประเทศรองรับ จึงมีขายเป็นวัตถุดิบที่มูลค่าต่ำและราคาผันผวนตามตลาดโลก

นายกฤษฎา กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการผลิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรยังขาดแรงจูงใจที่จะทำตามแผนดังกล่าว ขณะเดียวกันเมื่อประสบปัญหาขาดทุน ประสบภัยพิบัติ เกิดความล้มเหลวในอาชีพก็ไม่มีใครช่วยเหลือกระทรวงเกษตรฯ จึงมีแนวความคิดให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงเทียบเท่าข้าราชการ หรือกรรมการที่มีสวัสดิการรองรับเมื่อประสบปัญหาในการประกอบอาชีพโดยได้นำพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 ซึ่งมีทุน 2,900 กว่าล้านบาทนั้น มาดำเนินงานต่อ มีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดหากในอนาคตเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าตกต่ำ ประสบภัยพิบัติ ฯลฯ จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน ในการวางแผนดำเนินงานและหางบฯ สนับสนุนเพิ่มเติม

“มีสถิติว่า บางปีภาครัฐใช้เงินกว่า 200,000 ล้านบาท ในการเข้าไปอุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อประสบปัญหา แต่หากนำเงินส่วนนี้มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อดูแลสวัสดิการแก่เกษตรกร น่าจะใช้งบฯ      น้อยกว่าและมีแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ วางไว้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหา   ภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืนจริงๆ” นายกฤษฎา กล่าว

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน