บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีน้ำใช้ยามแล้ง

คณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมและชุมชน ร่วมกันขุดสระพวงบริเวณขอบสระลูก ตามแนวเส้นสีแดง

เมื่อเร็วๆ นี้ เอสซีจี เดินหน้าส่งเสริมชุมชนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ขุดสระพวงกักเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง ต่อยอดการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ภายใต้โครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” พร้อมเสริมสร้างความรู้และจิตสำนึกให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ สนับสนุนการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้ชุมชนมีน้ำกินน้ำใช้ พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และเป็นชุมชนที่เข้มแข็งในอนาคต

คุณอาสา สารสิน ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี
คุณอาสา สารสิน ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี

คุณอาสา สารสิน ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวในพิธีเปิดกิจกรรม “สระพวง รวมใจ สู้ภัยแล้ง” ณ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ว่า เอสซีจี ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” เพื่อส่งสริมให้ชุมชนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบที่ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้

ร่วมประเดิมจอบแรกขุดสระพวง ในพิธีเปิด “สระพวง...รวมใจ สู้ภัยแล้ง” ณ หมู่บ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
ร่วมประเดิมจอบแรกขุดสระพวง ในพิธีเปิด “สระพวง…รวมใจ สู้ภัยแล้ง” ณ หมู่บ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

ก่อนหน้านี้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ถูกหยิบยกเป็นพื้นที่ประสบภาวะวิกฤตภัยแล้งสืบเนื่องมาจากผลกระทบจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำไม้เนื้อแข็ง อย่างเต็ง รัง ประดู่ สัก ฯลฯ ไปแปรรูป โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว ประกอบกับสภาพภูมิประเทศของบ้านสาแพะ ที่ตั้งอยู่บนดอยสูง ทำให้น้ำจากภูเขาไหลลงสู่ที่ต่ำไม่สามารถไหลผ่านเข้ามาถึงหมู่บ้านได้ บางปีในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม ค่อนข้างแล้งจัด ผู้นำชุมชนต้องออกกฎในการเปิด-ปิดน้ำเป็นเวลา โดยชาวบ้านจะใช้น้ำได้เพียง 3 ชั่วโมง ต่อวัน

 

วิธีการแก้ปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า

คุณสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปางเป็นพื้นที่ที่มีป่ามากเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย แต่ปัญหาที่ยังพบในภาคเหนืออยู่คือ การบุกรุกทำลายป่า จึงส่งผลกระทบทำให้ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมามีปัญหา ในเรื่องของการจุดไฟเผาป่า ปัญหาหมอกควัน แต่เมื่อผมได้มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางแล้ว ได้มีการจัดทำนโยบาย 2 เรื่องคู่ขนาน คือมาตรการเฉพาะหน้า เน้นเรื่องของการกวดขันจับกลุ่ม และยับยั้งปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยใช้วิธีการคาดโทษกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่จะรู้ได้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เรียกว่ามาตรการใบเหลืองใบแดง คือถ้ามีหมู่บ้านใดตัดไม้ทำลายป่าจะมีการแจกใบเหลือง โทษของใบเหลืองคือ ให้บันทึกชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร หากมีครั้งที่ 2 ก็จะใช้มาตรการปลดออกคือ ให้ใบแดง ที่ทำแบบนี้เพราะอยากให้ประชาชนเฝ้าระวังพื้นที่ของตัวเอง ไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า แต่ถ้าจะให้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้คือ ต้องใช้นโยบาย 1 หมู่บ้าน 1 ป่าชุมชน เพราะเรารู้ว่าไม่มีใครดูแลพื้นที่ป่าได้ดีเท่ากับชาวบ้าน โดยมีการตั้งเป้า เน้นในเรื่องให้ความรู้จุดประกายขยายความคิด ติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้นำป่าในชุมชน โดยเน้นในเรื่องของการฟื้นฟูทำฝายชะลอน้ำ เพราะป่าชุมชนจะเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตของหมู่บ้าน เปรียบเสมือนเป็นตู้กับข้าวของชุมชน เป็นตู้กับข้าวที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุน ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง ไม่ต้องเสียเงินซื้อ เน้นให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ และเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบเผาป่าเกิดขึ้น

คุณสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
คุณสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

 

Advertisement

รวมใจเป็น 1 เพื่อความสำเร็จ

คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ชุมชนที่ตนเองดูแลมีทั้งหมด 153 หลังคาเรือน แรกเริ่มการทำฝาย มีคนเข้าร่วมกิจกรรมเพียง 5 คน เท่านั้น เนื่องจากชาวบ้านไม่เห็นความสำคัญและไม่เข้าใจว่าการปักไม้ลงบนผืนดินแห้งๆ จะก่อให้เกิดน้ำได้อย่างไร แต่ก็ยังคงพยายามฟื้นฟูป่าต่อไปและพยายามพูดคุยสื่อสารกับชาวบ้านให้มากขึ้น โดยใช้เวลาจากการพักเที่ยง ละลายพฤติกรรมชาวบ้าน จากเมื่อก่อนคนอยู่หมู่บ้านเดียวกันไม่เคยคุยกัน จะคุยกันก็ตอนมีงาน แต่หลังจากที่พักเที่ยงได้มาคุยกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นการเปิดใจซึ่งกันและกัน หลังจากได้คุยกันมากขึ้น ชาวบ้านก็เริ่มถามว่าทำฝายแล้วได้อะไร จากที่มีแต่ความฝันพอได้ลงมือทำ และมี เอสซีจี เข้ามาช่วย ความฝันเริ่มเป็นจริง และมีการโน้มน้าวให้ชาวบ้านในพื้นที่บริจาคที่เพื่อทำสระ ให้เหตุผลกับเขาว่า ถ้าท่านมีที่แต่ไม่มีน้ำ ต่อให้มีที่เป็น 100 ไร่ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ พอพูดให้ชาวบ้านเห็นภาพเขาก็สมัครใจบริจาคพื้นที่เพื่อขุดสระอย่างเต็มใจ ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย แต่มีน้ำใจ โดยเราขุดทั้งหมด 6 บ่อ แบ่งเป็น 1 บ่อแม่ 1 บ่อลูก 3 บ่อหลาน 1 บ่อน้ำทิ้ง ซึ่งตอนนี้ความหวัง ความฝันมาแล้ว รอแค่ให้น้ำมาอย่างเดียว

Advertisement
คุณคงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
คุณคงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

 

ชาวบ้านสาแพะทำการเกษตรอะไร ถึงมีรายได้ปีละ 350,000-400,000 บาท ต่อปี

โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านสาแพะ ปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งให้บริษัท เจี๋ยไต๋ เป็นหลัก รายได้ของทั้ง 153 ครัวเรือน ส่วนมากมาจากการทำการเกษตร มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ได้ทำการเกษตร ชาวบ้านสาแพะเน้นปลูกเมล็ดพันธุ์ แตงไทย บวบ มะระ ถั่วแดง ฟักทอง โดย 1 ครอป ใช้ระยะเวลาทำเพียง 4 เดือน ลงทุนเพียง 5,000 บาท แต่ได้เงินตอบแทนถึง 130,000 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเกษตรที่ใช้เงินลงทุนต่ำ ใช้น้ำน้อย ยาฆ่าแมลงน้อย ใช้ปุ๋ยหมัก ขี้หมู ขี้ไก่เป็นหลัก ทำกันได้ทั้งครอบครัว ทำจนสามารถปลดหนี้ และมีเงินเก็บฝากธนาคารได้อย่างสบายๆ

 

มาตรการในการใช้น้ำในสระพวง

 

ชาวบ้านสาแพะมีการตั้งกฎกติกา ตั้งประธาน และกรรมการควบคุม กรณีใครใช้น้ำ 1 ไร่ ต้องให้เงินเท่าไร โดยประมาณ 4 เดือน จ่าย 50-100 บาท และนำเงินส่วนนี้เก็บไว้เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งตอนนี้กำลังขับเคลื่อนให้เกิดเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น พยายามจะไม่ให้มีเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้า ขณะนี้ได้เริ่มเก็บ งา พริก มะละกอ เพื่อจะทำให้เป็นเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่นต่อไป