ตะลึง วัวชนภาคใต้ เงินสะพัด ปีละ 5 พันล้าน ธุรกิจคู่ขนานผุดเป็นดอกเห็ด หมดยุคเด็กเลี้ยงวัวจบ ป. 4

ตะลึง วัวชนภาคใต้ เม็ดเงินสะพัดปีละกว่า 5 พันล้าน ธุรกิจคู่ขนานผุดเป็นดอกเห็ด เพาะพันธุ์-อาหารเสริม-รีสอร์ตวัว-ขายน้ำเชื้อ เจ้าของรักยิ่งกว่าลูก จะนอนยังต้องกางมุ้งให้ เผยหมดยุคเด็กเลี้ยงวัวจบ ป.4 ยุคนี้ สัตวแพทย์ วิศวกร มาเลี้ยงวัวกันเพียบ จีน ญี่ปุ่น เริ่มติดใจซื้อทัวร์เข้ามาดูมากขึ้นเรื่อยๆ

วันที่ 16 มิถุนายน นายพงศธร สุวรรณสุทธิ์ หรือ เด่น ปากพนัง ผู้เชี่ยวชาญและผู้ดำเนินรายการกีฬาวัวชนภาคใต้ เปิดเผยว่า กีฬาวัวชน หรือการชนวัว ซึ่งแพร่หลายอยู่ในภาคใต้ และได้รับความนิยมอย่างมากใน 3 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง โดยปัจจุบัน กีฬาชนิดนี้ มีการพัฒนาไปไกลจากในอดีตที่ผ่านมาในทุกๆ ด้าน มีเงินสะพัดจากทุกกิจกรรมมากกว่าปีละ 5 พันล้านบาท ตั้งแต่ เรื่องการซื้อขายสายพันธุ์วัวชน ที่เริ่มต้น ในส่วนของลูกวัวที่ 30,000 บาท เป็นต้นไป แต่หากเป็น วัวชนตัวเต็มวัยอายุ 5 ปี ขึ้นไปราคาจะอยู่ที่หลักแสนบาทขึ้นไป องค์ประกอบ และอุปกรณ์การเลี้ยงวัวชน เช่น อาหารหลัก คือหญ้า เป็นหญ้าพันธุ์พื้นเมืองสำหรับวัวชนโดยเฉพาะ ที่ตอนนี้มีการปลูกขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ยาหรือวิตามินบำรุงวัว สมุนไพร ธุรกิจรีสอร์ตวัวชน สำหรับพักวัวก่อนทำการแข่งขัน ซึ่งรีสอร์ตวัวชนนี้จะทำควบคู่ไปกับรีสอร์ตของเจ้าของและทีมงานวัวชน ที่จะมาเฝ้าดูแลวัวของตัวเอง เมื่อวัว 1 ตัว จะลงสนามแข่งขัน เจ้าของและทีมงานจะนำมาพักที่ข้างสนามเพื่อให้ชินกับสถานที่อย่างน้อย 10 วัน สนนราคาค่าเช่า รีสอร์ตวัวจะอยู่ที่ 2,500-3,000 บาท ต่อ 10 คืน ส่วนรีสอร์ตสำหรับคนที่มาเฝ้าวัว ตกคืนละ 500-1,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเดิมพันสำหรับการชนวัวแต่ละคู่ การแข่งขันชนวัวคู่ดังๆ มีอัตราการเดิมพันในสนามมากถึง 30 ล้านบาท 1 สนาม จะชน 1 ครั้ง ต่อเดือน ครั้งละ 2-3 วัน ยกเว้นวันพระ และวันสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานในแต่ละจังหวัด ซึ่งการแข่งขันและเดิมพันทุกครั้งจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเวลานี้สนามกีฬาชนวัวในภาคใต้มีทั้งหมด 20 สนาม ด้วยกัน ก็จะหมุนเวียนกันจัดตามความเหมาะสม

“วัว 1 ตัว ตั้งแต่ยังเป็นลูกวัว จนอายุ 5 ปี ขึ้นไปมีความพร้อมที่จะลงสนามต่อสู้ อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายนับล้านบาท เริ่มแต่ใช้คนเลี้ยงอย่างน้อย 2 คน คนเลี้ยงวัว หรือเด็กเลี้ยงวัวในยุคนี้ ต่างกับยุคที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง จากยุคที่ผ่านมา เดิมทีเรามักจะพูดกันว่า เรียนจบชั้น ป.4 แล้วเป็นเด็กเลี้ยงวัว หรือไม่มีอะไรทำก็ไปเลี้ยงวัว แต่สมัยนี้ เมื่อการศึกษาภาคบังคับสูงขึ้น หาได้น้อยมากที่เด็กเลี้ยงวัวจะเรียนจบแค่ชั้น ป.4 หรือแค่การศึกษาภาคบังคับ เพราะส่วนใหญ่จะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือแม้กระทั่งปริญญาโทก็มี โดยหลายคนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สัตวแพทย์ ค่าจ้างสำหรับการเลี้ยงหรือดูแลวัวชน 1 ตัว ต้องเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป ต่อเดือน ไม่รวมสวัสดิการอื่นๆ ตามที่ทั้งนี้ เพราะการเลี้ยงวัวชน ทำกันอย่างจริงจังเป็นธุรกิจทั้งธุรกิจในครัวเรือน และเปิดเป็นฟาร์ม หรือค่ายวัวชนโดยเฉพาะ คนที่เลี้ยงนอกจากมีความผูกพันกับวัวแล้ว จะต้องมีความรู้ โดยเฉพาะศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่จะต้องนำมาดูแลวัวอีกด้วย วิธีการเลี้ยงวัว สำหรับเพื่อเป็นวัวชนนั้น ไม่เหมือนการเลี้ยงวัวทั่วไป ซึ่งต้องเป็นคนที่มีความรักในสัตว์ชนิดนี้อย่างจริงจัง ซึ่งก็น่าดีใจว่า มีคนรักการเลี้ยงดูวัวชนมากขึ้นเรื่อยๆ” นายพงศธร กล่าว

นายพงศธร กล่าวว่า กิจวัตรของวัวชน สำหรับการแข่งขันนั้น ต้องตื่นแต่เช้า คนเลี้ยงจะพาเดิน และวิ่งออกกำลังกายวันละ 5 กิโลเมตร เป็นอย่างน้อย การวิ่ง หรือเดินออกกำลังกายนั้นจะมีทั้งทางเรียบ และการเดินในโคลน เพื่อฝึกข้อส่วนต่างๆ ให้แข็งแรง การฝึกขวิด หรือชน กับกองดิน อาบน้ำ แปรงขน ลับเขา ตรวจสุขภาพ ให้วิตามินบำรุง ดูแลไปจนกระทั่งวัวนอน หากที่ไหนมียุงชุม ต้องมีมุ้งกันยุงให้ด้วย ก่อนเข้าแข่งขันแต่ละครั้งมีที่เก็บตัว นอกจากทีมงานคนเลี้ยงที่วัวคุ้นเคยแล้ว เจ้าของจะไม่ให้ใครเข้าใกล้วัวของตัวเองเด็ดขาด

ด้าน นายเผดิม จันลือชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวัวชน กล่าวว่า วัวชน คือกีฬาทางชาติพันธุ์ แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ที่ยุติธรรมที่สุด โดยที่ผ่านมาหลายคนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้อย่างมาก บ้างก็คิดว่าเป็นกีฬาที่โหดร้าย ทารุณสัตว์ ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

Advertisement

“วัวชนนั้น เป็นวัวที่เกิดมาเพื่อการต่อสู้โดยเฉพาะ การเอาวัวไปต่อสู้กันในสนาม มีกติกาชัดเจน อยู่ในสนามนั้นเป็นเรื่องของวัวเลยครับ จะสู้หรือจะหนีอยู่ที่วัวเลย เจ้าของ หรือใครๆ ไม่สามารถไปบังคับได้ หนีก็คือหนี ไม่สู้คือไม่สู้แล้ว จะไปจูง ไปเข็นให้สู้ เพราะอยากชนะไม่ได้เด็ดขาด กติกาของการต่อสู้วัวชนนั้น ละเอียดอ่อนและรอบคอบมาก เพื่อการรักษาชีวิตของสัตว์เลี้ยงที่เชื่อกันว่าเป็นที่รัก และเป็นเหมือนคนในครอบครัว”นายเผดิม กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า จริงหรือไม่ ที่ว่า วัวตัวไหนที่แพ้จากสนามชนวัวจะต้องถูกขายเข้าโรงเชือด หรือโรงฆ่าสัตว์ นายเผดิม กล่าวว่า หากเป็นสมัยก่อนอาจจะมีบ้าง แต่ในตอนนี้ไม่มีแล้ว แม้กระทั่งวัวที่ตายจากการชนในสนาม ก็แทบจะไม่มี โดยวัวตัวไหนที่ชนแพ้ สามารถกลับไปฝึกซ้อมเพื่อกลับมาแข่งขันอีกกี่ครั้งก็ได้ หรือวัวชนที่อายุมาก รวมทั้งตัวที่ไม่อยากต่อสู้แล้ว เจ้าของมักจะเก็บไว้ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์วัวชน ดังนั้นน้ำเชื้อของวัวที่ผ่านสนามการต่อสู้มาแล้วจึงมีค่ามาก เมื่อไม่ชนแล้ว ก็ยังสามารถรีดน้ำเชื้อขายได้อีก ราคาน้ำเชื้อวัวชนเวลานี้ จะเริ่มต้นที่โด๊สละ 2,000 บาท เป็นอย่างต่ำ ขณะที่วัวที่เก่งมากๆ ได้รับชัยชนะหลายครั้งน้ำเชื้อแต่ละหลอดอาจจะมีราคาเหยียบ 10,000 บาท ก็มีเช่นกัน หรือบางตัวไม่ได้ชนแล้ว แต่ยังมีคนอยากเห็น ก็แค่ไปโชว์ตัว เหมือนดารา ที่ออกโชว์ตัวตามงานต่างๆ

นายเผดิม กล่าวว่า สำหรับสนามการแข่งขันวัวชนในเวลานี้ก็ได้รับการพัฒนาไปไกล ไม่ใช่แค่กั้นคอกมุงหลังคากันแดดกันฝนเท่านั้น แต่เป็นสนามที่มีมาตรฐาน มีทั้งส่วนเป็นที่โล่ง และห้องปรับอากาศ มีบริการอาหาร เครื่องดื่ม ระบบรักษาความปลอดภัย ห้องน้ำสะอาด ไม่ต่างจากโรงแรม ระดับ 5 ดาว เพื่อรองรับทั้งผู้ที่รักในกีฬาวัวชน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ อัตราค่าเข้าชมแต่ละครั้ง อยู่ที่ 300-1,500 บาท เวลานี้ ทั้งชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ชาวจีน ญี่ปุ่น เริ่มเข้ามาดูกันอย่างแพร่หลายแล้ว โดยกีฬาวัวชนยังมีการเผยแพร่ผ่านทีวีดาวเทียม สามารถรับชมได้ทั่วโลก

“การชนวัวแต่ละครั้งนั้น สามารถสร้างงาน และกระตุ้น เศรษฐกิจในพื้นที่ ทำให้คนมีงานทำได้จากเม็ดเงินที่หมุนเวียนในหลักไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท ต่อปี ซึ่งผมมั่นใจว่าในอนาคต กีฬาชนิดนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ คนทั่วโลกจะรู้จักกีฬาชนวัวของภาคใต้ประเทศไทย มากพอๆ กับวัวกระทิงในประเทศสเปน” นายเผดิม กล่าว

ที่มา มติชนออนไลน์