ทุ่ม 1.8 หมื่นล้านดึงราคาข้าวกว่า1หมื่น/ตัน

“บิ๊กตู่” ทุ่ม 1.8 หมื่นล้านบาท อุ้มข้าวขาว-หอมปทุมฯ เกิน 1 หมื่นบาทต่อตัน “ปลัดฯพาณิชย์” ยันไม่บิดเบือนกลไกตลาด-สร้างปัญหาประเทศ ลั่นระบายข้าวหมดแน่ “อภิรดี” โบ้ย “จำนำข้าว” ต้นเหตุชาวนาไม่มียุ้งฉาง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม นบข.มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2559/60 สำหรับข้าวเปลือกเจ้า 10,500 บาทต่อตัน (ไม่เกิน 90% จากราคาตลาด) แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากธนาคาร ธ.ก.ส. จำนวน 7,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาทต่อตัน และเงินค่ารักษาเก็บเข้ายุ้งฉาง 1,500 บาท สำหรับข้าวหอมปทุมธานี 11,300 บาทต่อตัน แบ่งออกเป็นวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจาก ธ.ก.ส. 7,800 บาท  เงินช่วยเหลือค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาทต่อตัน และเงินค่ารักษาเก็บเข้ายุ้งฉาง 1,500 บาท ทั้งนี้กรณีเกษตรกรไม่มียุ้งฉางจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาทต่อตัน วงเงิน 1.82 หมื่นล้านบาท (งบประมาณโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายฯ 9 พันล้านบาท และงบประมาณช่วยเหลือ ตันละ 2 พันบาท วงเงิน 9.2 พันบาท) ระยะเวลาดำเนินการ 5 เดือน เป้าหมายเกษตรกรภาคกลาง 7 แสนครัวเรือน โดยจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 8 พ.ย.นี้

“วันนี้ภาคกลางมียุ้งฉางน้อยมาก แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวให้กับกลุ่มสหกรณ์ด้วย จึงเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเหลือรัฐบาลในการรวบรวมข้าวจากเกษตรกรได้ เพราะที่ผ่านมาชาวนาไม่มียุ้งฉางเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้ระบุว่ารัฐบาลไหนไปทำโครงการจำนำข้าวซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาตลาดซื้อขายข้าว ทำให้ชาวนาไม่เก็บขึ้นยุ้งฉาง วิถีชีวิตจึงเปลี่ยนไป หายไป”

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นตัวเลือกให้กับเกษตรกรในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เป้าหมาย 5 เดือน ชาวนาก็จะมาไถ่ถอนคืน เพราะคาดราคาข้าวไม่จะตกต่ำไม่กว่านี้ลงไปอีก ซึ่งราคาจำนำยุ้งฉางดังกล่าวราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาก เชื่อว่าจะสามารถระบายข้าวออกหมดแน่นอน หากชาวนาไม่มาไถ่ถอนคืน ถ้าระบายข้าวไม่หมดจะนำไปส่งออกให้ อย่างไรก็ตามต้องเชื่อมั่นว่าราคาข้าวจะสูงขึ้น เพราะถ้าคนขายไม่เชื่อมั่นจะทำให้ตลาดตกใจ

“การตั้งราคาตามมาตรการดังกล่าวที่ออกมาในวันนี้ ได้พิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว โดยเกษตรกรจะได้รับราคาที่ชาวนาพอใจ เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงราคาแต่คำนึงถึงรายได้เกษตรกร เพราะราคาต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เดินหน้าได้ เราผลิตข้าวเกินกว่าการบริโภคในประเทศ ถ้าเมื่อไรทำราคาสูง เราจะขายไม่ได้ ข้าวก็จะอั้นอยู่ในประเทศ เราจึงต้องทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่บิดเบือนกลไกตลาด แต่เกษตรกรต้องมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว บุตรหลานอย่างดี เพราะถ้าเอาราคาเป็นตัวตั้งจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับประเทศ”