ไทยตื่นพัฒนาสายพันธุ์ เสริมแกร่งส่งออกข้าว

โดย กษมา ประชาชาติ

แม้ว่าระดับราคาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยระดับพรีเมี่ยมสูงสุดถึงตันละ 1,250 เหรียญสหรัฐ ในปีนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

แต่ผู้ส่งออกข้าวหลายรายตั้งข้อสังเกตถึงความสามารถในการแข่งขันของข้าวหอมมะลิไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย ภาพที่ติดลบมาตั้งแต่ ปี 2557 เรื่อยมาจนถึง ปี 2559 และแม้จะผงกหัวขึ้นเมื่อ ปี 2560

ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ปัญหาด้านคุณภาพข้าวหอมมะลิลดลง และไทยยังคงใช้พันธุ์ข้าวเดิม แข่งขันรูปแบบเดิม

หากเปรียบเทียบเซ็กเมนต์ตลาดข้าวไทยก็เหมือนพีระมิด โดยยอดพีระมิดจะเป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีราคาส่งออกสูงที่สุด แต่ส่งออกในปริมาณที่มีสัดส่วนน้อยที่สุด และมีข้าวขาวอยู่ตรงฐานพีระมิด เพราะมีราคาส่งออกต่ำ แต่ปริมาณมาก แต่จะเห็นว่า “ช่องว่างตรงกลางพีระมิด” ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่นั้น ไทยยังไม่มี “ข้าว” จะมาแข่งขันในจุดนี้

ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนาม และกัมพูชา น้องใหม่วงการส่งออกข้าว เริ่มลงทุนวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวชนิดใหม่ที่มีคุณภาพดีออกมาถล่มตลาดนับกว่า 10 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นการลงทุนทั้งโดยภาครัฐและเอกชน สำหรับราคาที่กำหนดออกมาระดับปานกลางถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทย ตันละ 300-400 เหรียญ แต่ด้วยมีความนุ่มมากกว่าข้าวขาวของไทย จึงสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดสำคัญๆ อย่างจีนไปได้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ว่า เวียดนามมีการส่งออกข้าวชนิดนี้ไปจีนผ่านช่องทางการค้าชายแดนปีละ 1-2 ล้านตัน

ย้อนกลับมาที่แผนพัฒนาข้าวของไทย กรมการข้าว มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาข้าวแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาหลายปี งบประมาณต้องมีความต่อเนื่อง แต่ในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณก็ต้องมีเคพีไอชี้วัด ซึ่งเป็นปัญหาไก่กับไข่

ดังนั้น การวางแผนพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทยจึงเป็นไปอย่างเงียบๆ กว่าจะได้รับการรับรองพันธุ์ใช้เวลาหลายปี และหลังรับรองแล้วก็ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ ส่งเสริมชาวนาปลูก และสร้างความเข้าใจกับพ่อค้าในการทำการตลาด

แต่ล่าสุดผู้ส่งออกหลายรายพยายามผลักดันขอให้กรมการข้าวเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาว พื้นนุ่ม กข 21 พิษณุโลก 80 กข 77 กข 79 ออกมาแข่งขัน เนื่องจากคุณภาพดี ระดับราคาแข่งขันได้ โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเป็นแกนนำนำร่องส่งเสริมการปลูก 10,000 ไร่ ใน 8 จังหวัด

สวนทางกับภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมข้าว กข 43 ขึ้นมาแข่งขัน เพราะข้าวชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่ได้รับการการันตีจากโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าวิจัยแล้วพบว่า ข้าวชนิดนี้มี “ค่าแตกตัวน้ำตาลน้อย และค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ คาร์โบไฮเดรตของข้าวมีลักษณะที่ทนต่อการย่อยได้ดีกว่าข้าวอะมิโลสต่ำกว่าพืชอื่นๆ” ซึ่งไม่ใช่ยา แต่เป็นอาหารสุขภาพ เป็น “ซูเปอร์ฟูด” โดย “ชุติมา บุณยประภัศร” รมช.พ าณิชย์ ส่งเสริมเกษตรกรเฉพาะกลุ่ม ประมาณ 3,000 ไร่ ผลผลิตช่วงฤดูนาปรังที่ผ่านมาทำได้ 1,120 ตัน ส่งไปสีแปรที่โรงสีเฉพาะกลุ่มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงาน GMP และบรรจุถุง โดยจะมีเครื่องหมายรับรอง “ตราหมากรุกสีเหลือง” ซึ่งจดทะเบียนรับรองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา หากผู้ใดก๊อบปี้มีโทษสูงสุดปรับถึง 4 แสนบาท และจำคุก 4 ปี ออกมาทำตลาดอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ในวงการค้าข้าวต่างรู้จักข้าวสายพันธุ์ กข 43 เป็นอย่างดี ข้าวนี้มีการพัฒนาพันธุ์มานานแล้ว และมองว่าเรื่องนี้เป็นเจตนาที่ดีในการส่งเสริมของภาครัฐ แต่ได้สะท้อนมุมมองว่า ข้าวชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมปลูก เพราะดูแลรักษายาก และผลผลิตต่อไร่ต่ำ ไม่สามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้ ชาวนาจะไม่นิยมปลูกเพราะไม่คุ้มทุน แม้ว่าจะได้ราคาต่อกิโลกรัมสูงกว่า ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ แต่หากนำข้าวนี้มาแข่งขันในตลาดปกติ หรือกรณีที่ปรับเปลี่ยนรัฐบาลแล้วหันกลับไปใช้โครงการรับจำนำข้าวแบบเดิม ซึ่งจะมุ่งส่งเสริมการผลิตข้าวที่มีระยะเวลาปลูกสั้น 1 ปี ปลูกได้หลายๆ รอบ ให้ผลผลิตสูง เกษตรกรก็จะหันกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิมอีก

ดังนั้น รัฐบาลต้องหาแนวทางแก้ไขข้อจำกัดนี้อย่างจริงจัง และรับฟังเสียงของภาคเอกชนให้มากขึ้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์