“จิ้งหรีด” ส่งขายตลาดอียู ก.ก.ละ1,000 บาท

ท่ามกลางวิกฤตราคาสินค้าเกษตรข้าวตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย รัฐบาลงัดสารพัดรูปแบบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ยังมีอีกอาชีพแนวใหม่ที่ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันเปิดตลาดให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) รับหน้าที่รับรองมาตรฐานเร่งติวเข้มผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าแปรรูปจิ้งหรีดไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบตลอดห่วงโซ่ ก่อนอียูไฟเขียวเปิดตลาดอย่างเป็นทางการต้นปี”61

“จิ้งหรีด” อาหารโปรตีนที่มีจำกัด

ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตร ระบุไว้ว่า อนาคตการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกจะมากถึง 8,000 ล้านคน ในปี 2024 และมากถึง 9,000 ล้านคน ในปี 2050 ได้มีการประเมินว่า “แหล่งอาหารและโปรตีนจะมีอย่างจำกัด” แหล่งอาหารทดแทนจึงเข้ามาแทนที่อาหารหลักเพราะประชากรที่เพิ่มขึ้นอาหารจึงไม่เพียงพอ การเลี้ยงแมลงจึงเป็น Novel Food (อาหารใหม่) ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตร ระบบนิเวศอันสมบูรณ์ จึงเป็นเป้าหมายของทางเลือกผู้บริโภคทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของเกษตรกรไทยรวมถึงผู้ประกอบการสามารถเพิ่มช่องทางตลาดนวัตกรรมอาหารใหม่ ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญของหน่วยงานหลักกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)ในฐานะหน่วยงานกลางต้องจัดทำมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อเตรียมพร้อมส่งออกแมลงไทยไปยังสหภาพยุโรปภายใต้ข้อกำหนดอาหารใหม่ที่จะไฟเขียวนำเข้าก่อนต้นปี2561

เกษตรฯดันจิ้งหรีด “แมลง ศก.”

ในห้วงหลายปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงแมลงเป็นอาชีพเสริมจากทำการเกษตรหลักเช่น ปลูกข้าว ยางพารา ปาล์ม จากที่เกษตรกรเองเลี้ยงเป็นเพียงอาหารพื้นบ้าน (Traditional Food) ต่อมาทั่วโลกต่างสนใจแมลงเนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แมลงสามารถผลิตโปรตีนที่ย่อยสลายได้ในปริมาณมาก รวมถึงสารอาหารอื่นได้มากถึง 100 เท่า เปรียบเทียบกับการผลิตเนื้อวัว

นอกจากนั้นยังใช้น้ำน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ในฟาร์มเลี้ยงวัว คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมีความสนใจมาโดยตลอด ล่าสุด เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านประเมินความเสี่ยงของสหภาพยุโรป (ESFA) มาให้ความรู้ในกฎระเบียบโนเวลฟู้ดแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ จ.ขอนเเก่น สัปดาห์ที่ผ่านมา

น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการ มกอช.กล่าวว่า มกอช.พาคณะผู้แทนสหภาพยุโรปลงพื้นที่เยี่ยมชมงานด้านการเลี้ยงจิ้งหรีด การจัดการมาตรฐานในฟาร์มและการพัฒนาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร ณ หมู่บ้านจิ้งหรีด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากจิ้งหรีดถือเป็นแมลงเศรษฐกิจของไทยที่มีศักยภาพสูง กำลังการผลิตในระยะ 2-3 ปีหลังนี้ขยายอย่างมาก โดยมีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท/ปี และยังเป็นอาหารที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ราคาถูก ต้นทุนต่ำ และมีกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และส่วนผสมได้หลากหลายและเพิ่มมูลค่าสินค้า จำพวก Snack Food ด้วยการปรุงเเต่งเป็นรสชาติต่าง ๆ ทั้งรสต้มยำ รสวาซาบิ และจิ้งหรีดชนิดโปรตีนผง นำไปแปรรูปเป็นเค้ก และคุกกี้ ได้อีกด้วย

การที่ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านประเมินความเสี่ยงของสหภาพยุโรป หรือ ESFA มาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบโนเวลฟู้ด แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการของไทยให้พร้อม รองรับการบังคับใช้ระเบียบอาหารใหม่ของสหภาพยุโรปที่ปรับกฎระเบียบให้การยอมรับแมลงเป็นโนเวลฟู้ด (Novel Food) หรือกฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 รวมถึงการยื่นคำร้องและข้อมูลวิชาการประกอบการพิจารณาอนุญาตเปิดตลาดอาหารใหม่ในสหภาพยุโรปด้วย ขณะเดียวกัน มกอช.ยังผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานของสหภาพยุโรปตั้งแต่การเพาะเลี้ยงในฟาร์มจนถึงการวางจำหน่ายในตลาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์แมลงของไทยในสหภาพยุโรปและตลาดโลกได้ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ มกอช.ได้เตรียมจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือ GAP ฟาร์มจิ้งหรีดร่วมกับกรมปศุสัตว์ และ มกอช.ต้องดูในเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับ “การเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นไม่ยาก ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก แต่เราอาจจะต้องใส่ใจมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ มกอช.เองก็กำลังยกร่างมาตรฐานและได้เตรียมการเก็บข้อมูลทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น”

อียูคุมเข้มความปลอดภัย

นายแพทริค เดอร์บอยเซอร์ ทูตด้านสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารสหภาพยุโรปประจำประไทย กล่าวว่ากฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับอาหารของสหภาพยุโรปที่ผลิตขึ้นด้วยนวัตกรรมใหม่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มช่องทางใหม่แก่ภาคธุรกิจนวัตกรรมใหม่ด้านอาหารออกสู่ตลาดโลกและยังเป็นการรับรองระดับความปลอดภัยของอาหารแก่ผู้บริโภค

นายแวงซองท์ อองเดร ตัวแทน บ. AETS ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยและคุณภาพอาหารสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการบริโภคแมลงในหมู่ผู้บริโภคยุโรปยังเป็นเพียงเทรนด์อาหารเเนวใหม่ แต่อีกกลุ่มผู้สนใจหรือผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถรับประทานได้และดีต่อสุขภาพ จึงเริ่มสนใจศึกษาเเละมองว่าอนาคตจะขาดแคลนวัตถุดิบโปรตีน ดังนั้นจากการติดตามพบว่าจิ้งหรีดมีคุณสมบัติทางโภชนาการไม่แพ้เนื้อสัตว์อื่น ซึ่งปี 2561 ตลาดในสหภาพยุโรปทั้งหมด 28 ประเทศ จะประกาศให้นำเข้าแมลงอย่างเป็นทางการนับว่าเป็นช่องทางตลาดใหม่ของไทย

“ผมมองว่าน่าสนใจ ขณะที่รูปแบบการบริโภคนั้นคนยุโรปไม่ได้บริโภคเป็นตัว หากแต่เป็นการนำมาเเปรรูปเป็นแป้ง ผง ส่วนผสมอาหารนำไปทำเป็นพาสต้า คุกกี้ และจริง ๆแล้วแมลงก็มีรสชาติคล้ายคลึงกับกุ้ง ปู ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อย่างคนฝรั่งเศสยังบริโภคหอยทากได้ (Novel Food) เพราะฉะนั้น อยู่ที่รสนิยมการบริโภค” แต่ทุกวันนี้ปัญหาหลักคือ 1.คนยังไม่รู้จักอย่างกว้างขวางมากนัก เป็นเพียงเทรนด์ใหม่ 2.เรื่องกฎหมายของสหภาพยุโรป ที่ผ่านมาอาจมีข้อจำกัดนำเข้า แต่ปัจจุบันเราก็ได้ติดตามศึกษามาโดยตลอดและเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย จึงต้องมีการปรับเพื่อให้สอดรับกับปัจจุบันเพื่อเปิดตลาดและลดกระบวนการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ให้ง่ายขึ้น จากที่ไม่เคยมีสินค้าเหล่านี้มาก่อนในแถบสหภาพยุโรป

สร้างโอกาสส่งออกไปตลาดอียู

นายเพ็ชร วงศ์ธรรม ผู้เลี้ยง จ.ขอนเเก่น บอกว่า ทั้งหมู่บ้านผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่ จ.ขอนแก่น มีกำลังการผลิต 70 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 10 ล้านบาท นับว่าสามารถสร้างรายได้ไม่น้อย และจากเลี้ยงเพื่ออาชีพเสริมได้กลายมาเป็นอาชีพหลักไปแล้ว

ด้าน นายราฟาเอล ซาโมซิโน กรรมการผู้จัดการ บ.อีโค่ ฟาร์มมิ่ง จำกัด ผู้รับซื้อจิ้งหรีดแปรรูปเพื่อการส่งออก เผยว่า โรงงานแปรรูปตั้งอยู่ จ.เชียงใหม่ ได้ผลิตแป้งจิ้งหรีดหรือจิ้งหรีดผง โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเป็นหลักด้วยรูปแบบผง เป็นส่วนผสมอาหาร ขนม พาสต้า อนาคตหากเปิดตลาดมากขึ้น ได้ตั้งเป้าส่งออกแป้งจิ้งหรีดไปยังสหภาพยุโรปราคากิโลกรัมละถึง 1,000 บาท เลยทีเดียว