ตลาดเกษตรอินทรีย์ ในสหภาพยุโรป

การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นทางการของไทยอาจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่การวางวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” ทำให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเร่งแปรนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามแผน จะมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.33 ล้านไร่ เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 9.67 หมื่นราย ตั้งเป้าสัดส่วนตลาดภายในประเทศ 40% ตลาดต่างประเทศ 60% จากปัจจุบันสถานการณ์การผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก มีพื้นที่ผลิตรวม 318 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 3 ล้านล้านบาท

แยกเป็น โอเชียเนีย 143 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 0.04 ล้านล้านบาท สหภาพยุโรป 79 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 1.12 ล้านล้านบาท ละตินอเมริกา 42 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 0.01 ล้านล้านบาท และอื่นๆ 54 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 1.79 ล้านล้านบาท

ในส่วนของประเทศไทย มีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์รวม 0.3 ล้านไร่ คิดเป็น อันดับที่ 8 ของเอเชีย และอันดับ 60 ของโลก มูลค่าการตลาดรวม 2,310 ล้านบาท แยกเป็นสินค้าประเภท กะทิ เครื่องแกง ซอส 1,200 ล้านบาท ข้าว 552 ล้านบาท และอื่นๆ 558 ล้านบาท โดยพื้นที่ที่ผลิตเกษตรอินทรีย์มากที่สุด ประกอบด้วย
1. จ. ศรีสะเกษ 12.7%  2. เชียงใหม่ 11.8%  3. สุรินทร์ 11.6%  4. ยโสธร 10.0% และอื่นๆ 45.1%

หากสามารถขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุเป้าหมาย การก้าวขึ้นแท่นผู้นำตลาดอินทรีย์ในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการ โดยอาศัยจุดแข็งและความได้เปรียบด้านสภาพภูมิอากาศ ทำเลที่ตั้ง บวกกับต้นทุนเดิมการเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารแหล่งใหญ่ของโลก คงไม่ใช่เรื่องยาก

ที่จะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นข้อมูลที่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป นำมาเผยแพร่ ตอกย้ำให้เห็นว่า ปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ เพราะเทรนด์รักสุขภาพที่ขยายวงไปทั่วโลก ทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรปกำลังฮอตฮิตไม่แตกต่างกัน

ล่าสุด สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ได้จัดทำรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจาก The Soil Association”s 2018 Organic Market Report ว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา ตลาดอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ของสหราชอาณาจักรเติบโตเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นการเติบโตต่อเนื่อง 6 ปีติดต่อกัน โดยมีมูลค่าสูงถึง 2,200 ล้านปอนด์ และมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 1.5% เมื่อเทียบกับตลาดอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของสหราชอาณาจักร ดังนี้

ปัจจัย ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ประกอบด้วย 1. ประโยชน์ต่อร่างกาย 2. รสชาติ 3. ความสมดุลระหว่างราคา ปริมาณ คุณภาพ เวลาที่ใช้ทำอาหาร และรสชาติที่ชื่นชอบ 4. ความพึงพอใจ 5. คุณค่าของสินค้า ขึ้นอยู่กับราคา คุณภาพ และความสะดวก 6. ความโดดเด่นของบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรให้ความนิยมกับอาหารที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศที่ผลิตอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ในสัดส่วนเล็กน้อย อาหารมังสวิรัติ อาหารที่ใช้ส่วนผสมอื่นๆ ทดแทนนม และอาหารที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ 1. ซูเปอร์มาร์เก็ต มูลค่ารวม 1,500 ล้านปอนด์ ในปี 2560 เติบโตขึ้น 4.2% จาก ปีก่อนหน้า สูงกว่าอัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มทั่วไป 2. ร้านค้าปลีกอิสระ มูลค่ารวม 359 ล้านปอนด์ 3. การส่งสินค้าตรงถึงบ้าน 286 ล้านปอนด์ 4. ธุรกิจให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ภัตตาคาร ธุรกิจจัดเลี้ยง 84.4 ล้านปอนด์

สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับความนิยม 1. ผลิตภัณฑ์นม มีส่วนแบ่งการตลาด 29% เมื่อเทียบกับตลาดอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ทั้งหมดในสหราชอาณาจักร 2. ผัก และผลไม้สด 24% 3. เนื้อสัตว์ ปลา สัตว์ปีก 10.2% ทั้งนี้ การจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้ง 3 กลุ่ม ดังกล่าว มีการขยายตัวอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้สด อัตราการเติบโตสูงถึง 6.5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 20 ล้านปอนด์

โดย ปี 2560 ที่ผ่านมา ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหราชอาณาจักร มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านปอนด์ มีขนาดใหญ่เป็น อันดับที่ 3 รองลงมาจากเยอรมนี และฝรั่งเศส

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ระบุว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ตลาดสินค้าอินทรีย์ในสหภาพยุโรปขยายตัวต่อไปในอนาคต คือ การรักษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ด้านมาตรฐานการผลิต ที่มีการตรวจสอบควบคุมอย่างเข้มงวด สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน และมีการรับรองมาตรฐานจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องสื่อสารข้อมูลด้านคุณค่าของสินค้าให้ผู้บริโภคทราบอย่างชัดเจน เช่น คุณภาพ จรรยาบรรณในการผลิต การส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ และการช่วยสนับสนุนผู้ผลิตซึ่งเป็นเกษตรกรในท้องถิ่น ฯลฯ จึงถือเป็นโอกาสดีของไทยที่จะขยายการส่งออกไปตลาดแห่งนี้เพิ่มขึ้น

เพียงแต่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความปลอดภัยจากสารตกค้างต่างๆ การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องพัฒนาการผลิตสินค้าให้มีความหลากหลาย โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหาร และนวัตกรรมมาใช้ เพื่อพัฒนาอาหารให้มีคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และปรับปรุงการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น สินค้าเป็นธรรมชาติ ผ่านการปรุงแต่งน้อย นำไปประกอบอาหารได้ง่าย ไขมันต่ำ ลดการเติมเกลือหรือน้ำตาลลง เป็นต้น

ชี้เป้าให้ชัดเจนขนาดนี้แล้ว โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่ทำอย่างไร เกษตรกรไทย ผู้ส่งออกไทย จะก้าวไปให้ถึงได้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์