“ผลไม้กลับชาติ” ความลงตัวของภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สมุทรสงคราม

“มะระขี้นก และบอระเพ็ด” เป็นพืชที่หลายคนรู้จัก แล้วยังรู้จักมากไปกว่านั้นว่ามีรสขมจนต้องเมินหน้าหนี ความจริงแล้วการมีรสขมของพืช ผัก ผลไม้บางชนิดถือว่ามีสรรพคุณทางยาที่ดีต่อสุขภาพ ดั่งคำว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” กระนั้นก็ยังไม่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนทัศนคติได้ง่าย

แต่ความชาญฉลาดของคนรุ่นบรรพบุรุษที่เห็นคุณค่าประโยชน์ของพืชที่มีรสขม จึงหาวิธีแปรรูปเพื่อเปลี่ยนรสขมให้มาเป็นรสหวานแบบธรรมชาติ อีกทั้งยังตั้งใจปลุกให้ชนทุกรุ่นได้รู้จักพืช ไม้ผลเก่าแก่มิให้สูญหายไป แล้วหวังให้สืบทอดภูมิปัญญานี้จากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดคำเปรียบเปรยว่า “ผลไม้กลับชาติ”

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ตำบลบางพรม สมุทรสงคราม ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติ เพื่อร่วมกันนำพืชไม้ผลในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าด้วยการแปรรูปแบบแช่อิ่มกับอบแห้ง หวังอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนอีกด้วย

คุณฉวีวรรณ หัตถกรรม หรือ ป้าแดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติ บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 4 ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม บอกเล่าถึงความเป็นมาว่า คนในสมัยก่อนนำพืชผักที่ขึ้นตามธรรมชาติที่รั้วบ้านมาต้มจิ้มน้ำพริก แล้วยังนำมาแปรรูปให้มีรสหวานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนรับประทานกัน ขณะที่ป้าแดงเองก็ได้ถูกปลูกฝังความรู้เหล่านั้นจากบรรพบุรุษ แล้วเกรงว่าจะหายไป จึงถ่ายทอดให้แก่เพื่อนบ้านเพื่อทำขายจนเกิดเป็นที่สนใจกันทั้งชุมชน

คุณฉวีวรรณ หัตถกรรม หรือป้าแดง(ที่2จากขวา)กับสมาชิกกลุ่ม

“กระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนต่อยอดองค์ความรู้ให้เป็นระบบ พร้อมกับการจัดหาตลาด แล้วยังสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นกลุ่มสตรีเกษตรพัฒนา จนกระทั่งมาจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนจนถึงทุกวันนี้”

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติจัดตั้งขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้ชาวบ้านได้ใช้ผลผลิตทางการเกษตรของท้องถิ่นให้มีประโยชน์เกิดมูลค่า เพื่อหวังให้มีรายได้เพิ่มให้ครอบครัวและชุมชน ต้องการสร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชนท้องถิ่นเป็นที่รู้จักทั่วไป ขณะที่สินค้าแปรรูปทุกชนิดมีความสะอาด ปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แล้วยังสร้างเป็นฐานเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจ

ป้าแดง บอกว่า ช่วงแรกพืชไม้ผลที่แปรรูปแช่อิ่มยังมีจำนวนไม่มาก และที่เด่นน่าจะเป็นบอระเพ็ดแช่อิ่มได้ทำส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทการถนอมอาหารระดับประเทศ ติดต่อกัน 2 ปี พอเริ่มเห็นว่ามีความสนใจจากคนทั่วไปมากขึ้นจึงมองพืชไม้ผลชนิดอื่นในชุมชนที่สามารถนำมาแช่อิ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นพริก มะนาว ส้มโอ มะระขี้นก มะละกอ

ขณะเดียวกัน เห็นว่ามีพืชไม้ผลบางชนิดไม่เหมาะนำมาแช่อิ่มจึงได้ต่อยอดทำแบบอบแห้งแทนเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นตะลิงปลิง มะม่วง กระท้อน มะไฟกระเทย และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้อย่างลิ้นจี่อบแห้ง หรือส้มโอจะใช้เปลือกมาทำเป็นส้มโออบแห้งตั้งชื่อว่าส้มโอมรกต ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นผลส้มโอขนาดเล็กที่ไม่สามารถขายได้เนื่องจากต้องตัดออกจากต้นบ้างก็จะนำมาทำเป็นส้มโอแช่อิ่ม

การกำหนดจำนวนและประเภทผลไม้แช่อิ่มและอบแห้งชนิดใดออกวางขายนั้น ป้าแดง บอกว่า จะพิจารณาจากความต้องการของตลาดควบคู่ไปกับในช่วงนั้นเป็นฤดูผลไม้อะไร อย่างเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงที่มีตะลิงปลิงออกเป็นจำนวนมาก ทางกลุ่มก็จะรับซื้อจากสมาชิกในกลุ่มเท่านั้น โดยมีจำนวนรับซื้อเป็นตันเพื่อสต๊อกไว้ทยอยผลิตส่งขาย หรือในช่วงฤดูส้มโอกับลิ้นจี่

ป้าแดงยกตัวอย่างขั้นตอนการทำผลไม้กลับชาติที่มีรสขมอย่างบอระเพ็ดว่า จะใช้บอระเพ็ดที่มีอายุ 1 ปี มาตัดเป็นท่อนแล้วลอกเปลือกออก นำมาแช่น้ำเกลือในอัตราส่วนน้ำ 5 ลิตร เกลือ 1 ลิตร พร้อมแกว่งสารส้มลอกไส้ออก ให้แช่วัน 1 คืน จากนั้นเปลี่ยนน้ำเกลือทุกวันจนกว่าจะหายขม ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด แช่น้ำปูนใส 1 คืน ตั้งน้ำให้เดือด นำบอระเพ็ดต้มสัก 10 นาที นำน้ำตาลทรายตั้งไฟโดยไม่ให้หวานมาก ยกลงจากเตาเมื่อน้ำเชื่อมเย็นแล้วจากนั้นจึงนำบอระเพ็ดแช่ลงในน้ำเชื่อม ให้อุ่นน้ำเชื่อมทุกวัน แล้วตักบอระเพ็ดขึ้น เติมน้ำตาลทรายทุกครั้งที่อุ่นจนครบ 15 วัน จึงรับประทานได้

หรืออย่างมะนาวแช่อิ่มให้ใช้มะนาวผลเขียวสดนำมาขัดผิวให้เกลี้ยงด้วยกระดาษทรายน้ำ จากนั้นนำไปผ่าผลแกะเมล็ดออกแช่น้ำเกลือในอัตราส่วนน้ำเปล่า 5 ลิตร กับเกลือ 1 ลิตร พร้อมกับแกว่งสารส้มโดยเปลี่ยนน้ำเกลือทุกวัน แล้วให้ล้างด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง ให้ตั้งน้ำเดือดแล้วนำผลมะนาวลงใส่ เสร็จแล้วให้ตักผลมะนาวขึ้นนำไปตากแห้ง แล้วให้ทำน้ำเชื่อมที่มีความหวานเล็กน้อยแล้วนำผลมะนาวแช่ในน้ำเชื่อม ในทุกวันให้ตักมะนาวขึ้นอุ่นน้ำเชื่อมแล้วเพิ่มปริมาณน้ำตาลวันละเล็กน้อย ขณะเดียวกัน ให้เติมเกลือป่นลงไปด้วยแล้วให้ชิมรสตามชอบเป็นอันเสร็จ

บอระเพ็ดสดแช่น้ำเกลือ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติไม่เพียงถนัดแต่เรื่องผลไม้แช่อิ่มกับผลไม้อบแห้ง แต่ทางกลุ่มยังมีความชำนาญทางด้านทำขนมไทยโบราณหลายอย่าง โดยเฉพาะขนมที่เด่นอย่างสำปันนีแป้งกล้วย ซึ่งเป็นขนมสมัยรัชกาลที่ 2 ในสมัยก่อนเรียกพญาเสวย โดยใช้กล้วยน้ำว้าดิบปอกเปลือกและฝานให้บางตากแดดให้แห้งแล้วนำมาปั่นให้เป็นแป้งกวนร่วมกับหัวกะทิ โดยใช้แป้งกล้วย 1 กิโลกรัม หัวกะทิ 4 กิโลกรัม น้ำตาลทราย 4 กิโลกรัม แล้วกวนร่วมกันเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ใช้ไฟอ่อน

ฤดูลิ้นจี่พันธุ์ค่อมแปรรูปเป็นอบแห้ง

หลังจากนั้น นำใบตองกล้วยตานีลนไฟตัดเป็นแผ่นเล็กเพื่อห่อแล้วนำไปตากแดด เหตุผลที่ต้องใช้ใบตองกล้วยตานีเพราะมีความหอม เมื่อแกะขนมออกจากใบตองก็จะทำให้ขนมนั้นมีความหอมด้วย นอกจากนั้น ยังทำขนมไทยอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นทองม้วน ลูกชุบ รังไร ช่อม่วง ทองหยิบ ฝอยทอง ฯลฯ

ป้าแดงชี้ว่า ตลอดเวลาที่ทำผลไม้กลับชาติยังไม่เคยพบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เพราะทุกอย่างมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุดิบหรือความรู้ความชำนาญ แต่สิ่งที่น่ากังวลและเป็นห่วงคือการสืบทอดความรู้เหล่านี้ไปยังคนรุ่นหลังที่นับวันจะให้ความสำคัญน้อยลง

“อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ เนื่องจากเป็นสมบัติที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และยังถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เพราะตอนนี้ต่างชาติเริ่มให้ความสนใจกันแล้ว ทั้งนี้ คนที่สนใจควรเริ่มจากต้องมีใจรักจริงเสียก่อน ต้องมีความอดทน เพราะความรู้เรียนกันได้ไม่ยากถ้าคุณสนใจจริง ดังนั้น หากต้องการเรียนรู้เชิญมาได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติ และสอบถามรายละเอียดได้ที่ป้าแดง โทรศัพท์ (034) 761-084” ป้าแดง กล่าวฝาก