เผยแพร่ |
---|
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่า สถาบันฯ ร่วมกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการภารกิจของหน่วยงานเพื่อให้เกิดการสานต่อแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่สถาบันจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การสานต่อแนวพระราชดำริเกิดอย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนการร่วมมือกับกรมประมงครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมและการขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพู เพื่อสร้างอาชีพแก่ประชาชน ตามพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รวมถึงการส่งเสริมอาชีพประมงให้แก่ประชาชนในพื้นที่พัฒนาของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ที่มีหลายพื้นที่ แต่ที่เพิ่งขยายพื้นที่พัฒนาลงไป ใน ปี 2560 คือ ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวม 7 พื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงระบบน้ำ โดยดำเนินการเสร็จในหลายพื้นที่ เช่น ที่ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งหลังจากนี้จะมีโครงการส่งเสริมอาชีพเข้าไปเพิ่มเติม ซึ่งการส่งเสริมการเลี้ยงปลาพลวงชมพู จะเป็นทางเลือกของอาชีพใหม่ ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงสั้นกว่าการปลูกพืชเกษตรและมีตลาดรองรับ
“การส่งเสริมประมงเป็นอาชีพเพิ่มเติม จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่มีน้ำเพียงพอสม่ำเสมอก่อน คือ ทั้งใน 3 จังหวัดชายแดน คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และดำเนินการในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ที่เป็นเขตพัฒนาของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ไปพร้อมกัน” นายการัณย์ กล่าว
นายศุภวัฑฒ์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง กล่าวว่า กรมประมง จะให้การสนับสนุนในส่วนองค์ความรู้ โดยเทคนิคการเลี้ยงปลาที่เข้าไปให้ความรู้กับประชาชนในโครงการคือ เทคนิคการเลี้ยงปลาในระบบน้ำไหลนี้ ซึ่งล่าสุดได้ถ่ายทอดให้เกษตรกรหลายรายใน อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเทคนิคการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี ประหยัดต้นทุน เหมาะกับการเลี้ยงปลาในหลายสายพันธุ์ ทั้งปลานิล ปลาจีน และปลาพลวงชมพู
ขณะนี้ได้เริ่มทดลองเลี้ยงปลานิลในระบบน้ำไหลที่ อ.เบตง จ.ยะลา แล้วพบว่าใช้เวลาเลี้ยงสั้น ประมาณ 8 เดือน ได้ปลาขนาดใหญ่ ปลาที่มีคุณภาพไร้กลิ่นโคลน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ขายได้ราคาดี กำไรกว่า 50% ของเงินที่ลงทุน
ส่วนของ ปลาพลวงชมพู เดิมนั้นเป็นปลาธรรมชาติพบในเขตป่าฮาลาบาลา แต่ที่ผ่านมาถูกจับไปขายที่ประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 3,000 บาท ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงมีพระราชเสาวนีย์ ให้ขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์และเป็นอาชีพแก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบัน กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู และกำลังเร่งขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายพันธุ์สู่ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ใกล้มาเลเซียซึ่งเป็นตลาดรองรับขนาดใหญ่
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการส่งเสริมประมงแล้ว กรมประมงฯ และสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้ร่วมมือกันในการศึกษาวิจัยเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าการมีส่วนร่วมอย่างไร ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประเทศไทยมีไว้กับองค์การสหประชาชาติ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์