เผยแพร่ |
---|
การยางแห่งประเทศไทยผนึกเกษตรฯ เชิญ “ทูต-ผู้ซื้อ” ทั่วโลก ตะลุยพื้นที่สำรวจสวนยาง หวังเพิ่มตลาดส่งออก พร้อมประกาศศักยภาพสร้างเสถียรภาพราคายางให้ชาวสวน มีทูตจาก 16 ประเทศ ทั่วโลก เอกชนผู้ใช้ยางพารากว่า 50 ราย ตอบรับ จากจีนมากสุด ตั้งเป้ามีการจับคู่เจรจาธุรกิจ
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อผลักดันนโยบายตลาดนำการผลิตของ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ กระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เชิญเอกอัครราชทูตและเอกชนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราจากทั่วโลกเข้าสำรวจพื้นที่ปลูกยางพาราของไทย เพื่อแสดงความเป็นผู้นำในด้านการเป็นผู้ผลิตยางคุณภาพสูงของโลก
ตั้งเป้าขยายตลาดคู่ค้าและตลาดส่งออกยางพาราไทยเพิ่มขึ้น และภายในงาน กยท.จะมีการเจรจาธุรกิจ (Bussiness Matching) ระหว่างสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตยาง กับผู้ประกอบการยางต่างประเทศ
สำหรับกำหนดจัดการลงพื้นที่จะจัดขึ้นระหว่าง 28-30 มิถุนายน นี้ โดยจะมีการประชุมโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยขึ้น ณ โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ เพื่อแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำของไทยในฐานะผู้ผลิตยางคุณภาพและการส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก รวมทั้งเพื่อแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราโลก ตลอดจนสร้างความมั่นใจและประชาสัมพันธ์คุณภาพมาตรฐานและความหลากหลายของยางพาราไทย
ล่าสุด มีทูตและผู้แทนรัฐบาลจาก 16 ประเทศทั่วโลก จำนวน 21 คน ทั้งในเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา อาทิ จีน ญี่ปุ่น เม็กซิโก บราซิล อิหร่าน เป็นต้น ตอบรับเข้าร่วมงาน ส่วนผลของการจัดงานกระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าเพิ่มคู่ค้ายางพาราไทย โดยเฉพาะผู้นำเข้ายางรายใหม่ของโลก เช่น เม็กซิโก อินเดีย และอิหร่าน เป็นต้น ที่สำคัญเกษตรกรได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งลดปัญหายางล้นตลาดและราคายางตกต่ำอีกด้วย
“เกษตรฯ และกยท. เตรียมนำทูตจาก 16 ประเทศทั่วโลก และเอกชนผู้ผลิตสินค้าจากยางพารา จำนวน 50 ราย มีเอกชนจากจีนมากที่สุด 19 ราย รองลงมาคือ ญี่ปุ่น เม็กซิโก ประเทศละ 9 ราย อินเดีย 5 ราย และยังมีเอกชนจากประเทศผู้บริโภคยางพาราอันดับต้นๆ ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาตอบรับการร่วมลงพื้นที่ด้วย”
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะชี้แจงนโยบายของรัฐบาลและมาตรการต่างๆ ในการพัฒนายางพาราทั้งด้านการผลิต การแปรรูปวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และความหลากหลายให้นานาประเทศรับทราบแล้ว ยังมีกำหนดการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปยางทั้งระบบในพื้นที่จังหวัดตรัง อาทิ การผลิตยางแผ่นรมควัน มาตรฐาน GMP ยางเกรดพรีเมียม การผลิตภัณฑ์ยางอัดก้อน
รวมถึงการดำเนินงานของบริษัทเอกชน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยางซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการยางจากต่างประเทศ ผู้นำเข้ารายใหม่ และผู้นำเข้ารายใหม่จากประเทศเดิมด้วย
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด