เกษตรฯ วางมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/2560

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 เห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/60 โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 งบกลาง กรอบวงเงิน 2,055.72 ล้านบาท ภายใต้ 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/60 กรณีได้รับผลกระทบ 2. มาตรการพักชำระหนี้และขยายเวลาการรับชำระหนี้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/60 และ 3. มาตรการฟื้นฟูอาชีพสนับสนุนปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้เพื่อการปรับตัวต่อภัยพิบัติ นั้น

เบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการตามมาตรการแรก คือ แนวทางการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 กรณีได้รับผลกระทบ ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติเกษตรกรไว้โดยจะต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ตามประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 และได้ขึ้นทะเบียนประกอบกิจกรรมเกษตรในช่วงที่ผ่านมากับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้ได้รับการช่วยเหลือเพียง 1 ด้าน และเป็นเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน อัตราการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัย ปี 2559/60 ให้ช่วยเหลือเยียวยาด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ อัตราครัวเรือนละ 3,000 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นไปตามทะเบียนหน่วยงานที่กำกับดูแลเกษตรกรแต่ละด้าน

โดยการบริหารจัดการตามมาตรการดังกล่าวกำหนดแนวทางไว้ ดังนี้

  1. คณะกรรมการตรวจสอบและรับรองข้อมูลเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย

1.1 นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน โดยมีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชนเป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้องว่าเกษตรกรรายนั้นอยู่ในพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) และได้ขึ้นทะเบียนและประกอบกิจกรรมการเกษตรในช่วงที่ผ่านมาตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยเท่านั้น

1.2 ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบความซ้ำซ้อนและรับรองความถูกต้องของข้อมูล

1.3 คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของข้อมูล

1.4 คณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ และบูรณาการการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการดำเนินงานต่าง ๆ

2. ขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ

2.1 พื้นที่เป้าหมาย สำรวจข้อมูลหมู่บ้านที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย)               ปี 2559/60 และบัญชีรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานต้นสังกัดที่อยู่ หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่  สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด

2.2 แต่งตั้งคณะกรรมการระดับหมู่บ้านและระดับอำเภอ ประกาศยื่นแบบความจำนงเข้าร่วมโครงการ กรอบระยะเวลา 10 วันทำการ

2.3 ตรวจสอบความซ้ำซ้อนและรับรองความถูกต้องในแต่ละระดับ ทั้งระดับหมู่บ้าน ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ก่อนนำส่งข้อมูลเสนอสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ พร้อมจัดทำคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณเสนอสำนักงบประมาณ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วส่งข้อมูลให้กับ ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ กรอบระยะเวลาประมาณ 20 วันทำการ

2.4 จากนั้นสำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณ กรอบระยะเวลา 5 วันทำการ

2.5 โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร โดย ธ.ก.ส. กรอบระยะเวลา 3 วันทำการ และ ธ.ก.ส.จะรายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบทุกสัปดาห์

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/60 กรณีได้รับผลกระทบ กรมฯ ได้สั่งการไปยังหน่วยงานในพื้นที่ คือ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ ให้ปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด รัดกุม โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยต้องมีความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม รวมทั้งชี้แจงสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกรอบแนวทางและระยะเวลาที่กำหนด

 

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร รายงาน