เสลา พันธุ์ไม้พระราชทาน ปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดนครสวรรค์

เสลา

งามเอยดอกเจ้าสีม่วงอ่อน คลายร้อนกลีบย้วยหยัก งามนักสลักเสลา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia loudonii Teijsm. & Binn.

ชื่อวงศ์ Lythraceae

ชื่ออื่นๆ ตะเกรียบ เกรียบ ตะแบกขน อินทรชิต

หนูมีปัญหาเรื่องชื่อที่หลายคนบ่นว่าเรียกไม่ถูก เพราะเรียกตามคำอ่านก็บอกว่าผิด คือบางคนอ่านว่า เส-ลา กลายเป็นเป็นคำเรียกที่แปลกมาก บางคนอ่านว่า สะ-เลา ยิ่งผิดแปลกเพี้ยนไปเลย หนูจึงบอกเขาว่าให้ไปเปิด google เขาอ่านว่า สะเหลา ค่ะ ฟังแล้วหนูเองก็มีความรู้สึกว่าช่างอ่อนช้อย “สะหลักสะเหลา” ยิ่งนัก เพราะกลีบดอกสีม่วงอ่อนที่ย้วยย่นเป็นหยักลอน เพียงแต่บอบบางน่าทะนุถนอมก็ทำให้หนูมีความรู้สึกว่าใครๆ ก็รักหนู

หนูภูมิใจมากที่หนูเป็นที่รักเอ็นดูของใครต่อใคร คิดดูซิคะ หนูเป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดนครสวรรค์ เมืองท่องเที่ยวที่ทุกคนรู้จัก แล้วหนูยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวรอีกด้วย เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร รอรับดอกเสลาที่บานสะพรั่งช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปี เพราะจะได้ต้อนรับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตในงานพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมจะได้ร่วมร้องเพลง ดอกเสลา ที่ท่าน ศ.ดร. สุจินต์ จินายน อธิการบดี แต่งคำร้องไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ที่ขึ้นต้นว่า “สราญสดใส เสลาผลิใบ ดอกบานสะพรั่ง ฟ้าม่วงชมพู สีเจ้า สดหรู ชื่นชูชีวัน…ฯลฯ” แล้วยังมีชื่อหนูปรากฏในวรรณคดีอีกตั้งหลายเรื่อง เช่น โคลงนิราศสุพรรณ บทประพันธ์ของท่านสุนทรภู่

มีบาทสุดท้ายของบทหนึ่งว่า

“เสลาสลอดสลักสล้าง เหล่าไม้กระแสสินธุ์ฯ”

และมีบาทแรกอีกบทหนึ่งว่า

“เสลาสลอดสลับสล้าง สลัดใจ”

หนูเป็นไม้ยืนต้นแข็งแรงขนาดกลางถึงใหญ่ ขัดแย้งกับกลีบดอกที่ดูย่น หยักอ่อนบางร่วงหล่น แต่แปลกอีกอย่างคือ ถ้าหนูออกดอกมาเมื่อไหร่ หนูก็จะไล่ใบเขียวๆ ร่วงหล่นผลัดใบแล้วหนูก็โชว์ดอกสวยสล้างเสลาของหนูชูช่องาม เห็นแต่ดอกคลุมทั่วต้น แต่ถ้าดอกหนูโรยเมื่อไหร่ก็จะมีผลกลม แข็ง แตกเป็นกลีบเมล็ดมีปีก นี่แหละนำไปเพาะปลูกได้เลย

มีปัญหาอีกอย่างที่มีคนบ่นว่า แยกหนูไม่ออกกับพี่ๆ น้องๆ ของหนูที่เขาเรียก 3 ใบเถา คือ ตะแบก และอินทนิล ก็ถ้าดูดอกแล้วจะดูยาก จึงขอแนะนำให้ดูเปลือกต้นเพราะขึ้นปะปนกันตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ แต่เขานิยมนำหนูและพี่น้องมาปลูกข้างถนนทั่วไป แต่หนูก็มีดีทางสมุนไพร คือเปลือกบดป่นให้ละเอียด ใช้โรยแผลได้ กินแก้ท้องเสียได้ แล้วเนื้อไม้ทำเครื่องแกะสลัก ไม้พื้น รอด ตง คาน และเครื่องมือช่างไม้ได้ดี พี่จะปลูกหนูเป็นไม้ประดับก็ได้แต่ต้องขยันกวาดใบกวาดดอกหน่อยนะคะ

“ตะแบกบานแล้วร่วง สีม่วงที่พี่ชื่นชม…ฯ” ถ้าดูดอกแล้วแยกหนูกับพี่ตะแบกไม่ได้ ก็ดูเปลือกต้นนะจ๊ะ เขาพูดกันว่า “เสลาเปลือกแตก ตะแบกเปลือกบางนะ…เจ้าค่ะ”