เผยแพร่ |
---|
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการติดตามการขับเคลื่อนงานของกรมส่งเสริมการเกษตรที่จังหวัดเลยนั้น มีอยู่ 2 ประเด็น คือ
1. การขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนโยบายหลักของกระทรวงที่ลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ 15 โครงการหลัก โดยในส่วนของจังหวัดเลยนั้น เป็นจังหวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก มีประมาณ 14 อำเภอ ดังนั้น การปฏิบัติงานของจังหวัดเลยจึงค่อนข้างที่จะคล่องตัว โดยในส่วนของการปฏิบัติงาน ในปี 2561 มีการตั้งเป้าหมาย มีการวางแผน และมีผลการดำเนินงานมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ส่วนจุดแข็งของจังหวัดเลย ที่พบคือ การทำงานในด้านของการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ โดยเฉพาะด้านการผลิตพืช จังหวัดเลยมีการสนองนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยการใช้แผนการตลาดนำการผลิต ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของตลาดสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดพืช ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ไม้ดอก และพืชตระกูลส้ม เป็นต้น เนื่องจากมีตลาดรองรับแน่นอน ประกอบกับจังหวัดเลยมีพื้นที่ไม่มากนัก ผลผลิตที่ได้จึงพอเหมาะกับตลาดที่รองรับ อีกทั้งการวางแผนการผลิตและการตลาดค่อนข้างที่จะเชื่อมโยงกัน สามารถที่จะขับเคลื่อนการตลาดนำการผลิตได้ค่อนข้างดี
2. โครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลทุ่มเงิน 1.5 แสนล้านบาท ลงสู่พื้นที่ทั่วประเทศ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร มี 4 โครงการหลักๆ ที่จะลงสู่จังหวัดเลย ได้แก่
1. โครงการฝึกอาชีพเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน โดยทางธนาคารจะส่งรายชื่อมาให้กับทางสำนักงานเกษตร เพื่อให้เข้าไปสอบถามความต้องการ และฝึกอบรม ให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ใหม่ๆ ไปพัฒนาอาชีพได้
2.โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันปริมาณยางพาราล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงต้องเข้าไปพัฒนาเกษตรกรที่มีสวนยาง และมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชอื่นแซมในสวนยางพารา เพื่อสร้างรายได้ขึ้นมาทดแทนราคายางที่ตกต่ำ
3.โครงการเสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรรายย่อย ที่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 30,000 บาท ต่อครัวเรือน และได้รับการคัดกรองรายชื่อแล้ว ไปอบรมผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าการเกษตร (ศพก.) เพื่อให้มีความรู้ใหม่นำไปพัฒนาสร้างรายได้ให้มากขึ้น และ
4.โครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer โดยให้แต่ละจังหวัดไปคัดกรองเกษตรกรรายใหม่เข้ามาต่อยอดการทำอาชีพการเกษตรและส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อย่างไรก็ดี หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน จำเป็นต้องเข้าไปสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในจังหวัด ได้รับทราบว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้าไปดูแลพี่น้องเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้าน นายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่เองก็ต้องเข้าไปสร้างการรับรู้ เสนอทางเลือก เสนออาชีพให้เกษตรกร เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่น อยากจะพัฒนาอาชีพ โดยมีพี่เลี้ยงเป็นตัวกระตุ้น และใช้องค์ความรู้ทางการเกษตรทั้งหมดเข้าไปเติมเต็มให้กับเกษตรกร ซึ่งนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่แล้ว ศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตรก็ต้องเตรียมความพร้อมที่จะเติมเต็มความรู้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนเป็นที่รองรับและเป็นศูนย์หลักที่จะช่วยพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรที่เลือกแล้วว่าจะพัฒนาอาชีพอะไรเพื่อจะช่วยเสริมรายได้ให้มากขึ้น โดยหลังจากการฝึกอบรมเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรต้องสามารถทำได้เลย โดยมีงบประมาณของรัฐบาลเข้าไปช่วยส่วนหนึ่ง เกษตรกรส่วนหนึ่ง ถ้ายังไม่เพียงพอก็สามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพิ่มเติมได้ ส่วนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร (ศพก.) ซึ่งมีอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัดเลย ต้องเป็นศูนย์กลางการประสานให้กับเกษตรกรมารวมกันคิด รวมกันวิเคราะห์สภาพปัญหาของตนเองให้ได้ ก่อนจะส่งมอบให้กับศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ เข้าไปฝึกอบรม และที่สำคัญที่สุดคือ ทางจังหวัด อำเภอ และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น จะต้องเข้าไปช่วยกันขับเคลื่อน กำกับ ติดตาม เพื่อให้แผนงานที่วางไว้ทั้งหมดบรรลุเป้าหมายให้ได้ ทั้งนี้ ทางจังหวัดเลยได้เตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องของพื้นที่ บุคลากร ไว้เรียบร้อยแล้ว รอเพียงงบประมาณจากส่วนกลางอนุมัติมาให้ เพื่อใช้ในการดำเนินการต่อไป