วช. นำโดรน ทำแผนที่ทางอากาศ สนับสนุนกรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำโดรนสำรวจ ที่ วช. ได้ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ พัฒนาซอฟท์แวร์ ซึ่งสามารถทำแผนที่ทางอากาศแบบสามมิติได้ด้วยตัวโดรนเอง ซึ่งเป็นแผนที่ 3 มิติที่มีความละเอียดสูงมาก รวมถึงสามารถสั่งการให้โดรนเข้าถึงเป้าหมาย โดยป้อนค่าพิกัดละติจูดและลองติจูดได้อย่างแม่นยำ นอกจากทำแผนที่แล้ว ยังสามารถส่งสิ่งของ สามารถสั่งขึ้นจากพื้นสู่อากาศด้วยคำสั่งเสียง เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการค้นหาจุดที่ผู้ประสบภัย ซึ่งโดรนสำรวจดังกล่าวเป็นโดรนที่มีขนาดเล็ก มีเส้นทแยงมุม ประมาณ 1 ฟุตครึ่ง มีระบบเซ็นเซอร์ป้องกันรอบตัวเมื่อบินแล้วเจอสิ่งกีดขวางก็จะหยุด เมื่อบินต่อไปแล้วสามารถจะบินกลับมาที่ตำแหน่งเดิมได้ ทนแรงลมได้ถึง 40 น็อต ความเร็ว 80 กม./ชม. และสามารถบินผ่านฝนปรอยๆ ได้ มีความสามารถในการถ่ายภาพ ในระดับ 4K การบินในแต่ละครั้ง นานประมาณ 20 นาที ซึ่งจะใช้ภาพ 3 มิติ บริเวณเขาโดยรอบของถ้ำที่ถ่ายจากโดรนนี้ เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ แผนที่ที่ได้จากโดรนนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการค้นหาจุดที่ผู้ประสบภัยอยู่ เนื่องจากเป็นแผนที่ 3 มิติ มีความละเอียดสูงมาก แบบรู้สถาณการณ์จริงและหมุนภาพแผนที่ได้ ซึ่งจะช่วยให้ทีมช่วยเหลือสามารถเลือกทิศทางในการค้นหาทางเข้าออกใหม่ของถ้ำได้อย่างเหมาะสม

โดยในวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้นำโดรนสำรวจเพื่อให้การสนับสนุนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย แก่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยได้ร่วมกับ นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ลงพื้นที่เพื่อใช้โดรนในการนำภาพ 3 มิติ ในพื้นที่ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป