ยาสูบกระเป๋าแฟบ เลิกซื้อใบยา ชาวไร่โอด กระทบหนัก-อ้อนรัฐยื่นมือช่วย

“ยาสูบ” ยันเลิกแจกโควต้ารับซื้อใบยาสูบ แจงเหตุ “ยอดบุหรี่ร่วง-สต๊อกล้น” 7 ปี อ้างผลพวงจากโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เกษตรกรโอดรายได้หาย 2 พันล้าน หนี้สินรุงรัง หวั่นกระทบเป็นลูกโซ่

 

นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ ยสท. คงไม่สามารถแจกโควต้ารับซื้อใบยาสูบรอบปี 2562 ให้แก่เกษตรกรได้เหมือนกับทุกปีที่จะแจกโควต้าช่วงเดือน ก.ค. เพื่อที่เกษตรกรจะเริ่มเพาะปลูกในเดือน พ.ย. แล้วก็ซื้อขายกันในปีถัดไป เนื่องจาก ยสท. ไม่มีเงินที่จะรับซื้อใบยาสูบ ที่ปกติต้องใช้ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ เนื่องจากยอดขายบุหรี่ที่ตกลง หลังโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ ต้องผลิตลดลง และมีสต๊อกใบยาสูบเหลือจำนวนมาก

“ตอนนี้สต๊อกเหลือมาก มีถึง 5-7 ปี จากปกติควรมีสต๊อกแค่ 18 เดือน ในทุกชนิดใบยา หรืออย่างมากสุดต้องไม่เกิน 24 เดือน แต่พอเกินเราก็ต้องมาตรวจว่าเสื่อมสภาพหรือไม่ ถ้าเสื่อมก็ต้องทิ้ง และอาจถูก ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ตรวจสอบ” นางสาวดาวน้อย กล่าว

ก่อนหน้านี้ นางสาวดาวน้อย ระบุว่า ผลดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 นี้ ยสท. จะประสบภาวะขาดทุนแน่นอน แม้ช่วง 6 เดือนแรก (ต.ค. 2560-มี.ค. 2661) จะมีกำไรประมาณ 200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับอดีตที่จะมีกำไรตก เดือนละกว่า 700 ล้านบาท

ขณะที่ นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการ ยสท. กล่าวว่า ในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ ก็ต้องแจ้งชาวไร่ยาสูบว่า เราไม่มีโควต้ารับซื้อรัฐบาลต้องหาวิธีช่วยเกษตรกร

นายอรุณ โปธิตา ตัวแทนชาวไร่ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การงดการรับซื้อยาสูบจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก เนื่องจากใบยาสูบนั้นถือเป็นรายได้หลักของเกษตรกร คาดว่าปีนี้ความเสียหายของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศน่าจะสูงถึง 2,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่คาดว่าจะสูญเสียรายได้มากถึง 1,000 ล้านบาท และเฉพาะกลุ่มเกษตรกรไร่ยาสูบในเชียงใหม่ จะสูญเสียรายได้ 300 ล้านบาท นอกจากนี้ ปัจจุบัน เกษตรกรหลายรายก็มีภาระหนี้สินจากการกู้เงินจากธนาคารมาสร้างเตาอบใบยา ราคาเตาละประมาณ 500,000 บาท

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้บ่มใบยาสูบ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้ข้อมูลว่า การงดรับซื้อใบยาสูบโดยอ้างเรื่องใบยาสูบเก่ายังคงค้างสต๊อกเป็นจำนวนมาก จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบประสบความเดือดร้อนหนักและกระทบเป็นทอดๆ ตั้งแต่ผู้ปลูก ลูกจ้าง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกษตรกรปลูกใบยาสูบเป็นบริเวณกว้าง เฉพาะภาคเหนือตอนบนก็มีรวมกันกว่า 67,977 ไร่ จำนวนเกษตรกรกว่า 15,500 คนแล้ว โดยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ และน่าน นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรอีกหลายจังหวัดในภาคอีสานที่ปลูกยาสูบ อาทิ จ.นครพนม หนองคาย เพชรบูรณ์ สุโขทัย ร้อยเอ็ด เป็นต้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์