กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ทั่วประเทศ วางระบบบริหารจัดการผลผลิตร่วมกันเพื่อลดต้นทุนและมีตลาดรองรับชัดเจน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ คัดเลือกพื้นที่นิคมสหกรณ์เป้าหมาย 6 แห่งที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ ยกระดับรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ตั้งเป้าปฏิรูปตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าการเกษตร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง วางระบบบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน เพื่อช่วยลดต้นทุน มีตลาดรองรับชัดเจนและสร้างรายได้ เพิ่มให้แก่เกษตรกร

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการเตรียมการจัดพื้นที่นิคมสหกรณ์เป้าหมาย 6 แห่ง เพื่อดำเนินการตามนโยบายในการวางแผนการผลิตทางการเกษตร ว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีนโยบายจะปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต  การบริหารจัดการสินค้าและขยายช่องทางการตลาด โดยใช้วิธีการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่เข้ามาขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว  กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์เป้าหมาย 6 แห่ง จำนวน 131,670  ไร่ เกษตรกร 4,630 ราย ประกอบด้วย นิคมสหกรณ์สวรรคโลก นิคมสหกรณ์หนองบัว นิคมสหกรณ์ศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย นิคมสหกรณ์พิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ นิคมสหกรณ์แม่สอด จังหวัดตาก และนิคมสหกรณ์นครชุม จังหวัดกำแพงเพชร

ทั้งนี้ ได้แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวแปลงใหญ่ จำนวนทั้งหมด 64,970  ไร่ ในพื้นที่นิคมสหกรณ์สวรรคโลก นิคมสหกรณ์หนองบัว นิคมสหกรณ์ศรีสำโรง และนิคมสหกรณ์พิชัย และจะส่งเสริมปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้เสริมหลังฤดูการทำนา ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วผิวมัน ผักบุ้ง เพื่อขายเมล็ดพันธุ์ ส่วนพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์   จำนวนทั้งหมด 26,700 ไร่ อยู่ในที่นิคมสหกรณ์แม่สอด และพื้นที่แปลงใหญ่มันสำปะหลัง จำนวนทั้งหมด 49,000 ไร่ ในนิคมสหกรณ์นครชุม ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ทุกแห่งจะต้องดำเนินการผลิตสินค้าการเกษตรทุกชนิด ให้เป็นไปตามมาตรฐานและมีการควบคุมการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ กรมฯได้จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ในพื้นที่นิคมสหกรณ์จัดหาเครื่องจักรกลต่าง ๆ ที่จะนำไปบริการไถพื้นที่เพื่อเตรียมแปลงเพาะปลูกให้กับสมาชิก พร้อมทั้งจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ดูแลการใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืชต่าง ๆ และการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะพื้นที่แปลงใหญ่ข้าว ซึ่งคาดว่าต้นทุนประมาณ 4,250 บาทต่อไร่  จากนั้นสหกรณ์ต้องคำนวณว่าค่าใช้จ่ายในการรับจ้างของสหกรณ์อีก 10% หรือประมาณ 425 บาท เมื่อรวมต้นทุนแล้วจะอยู่ที่ 4,675 บาทต่อไร่ เมื่อผลผลิตถึงฤดูเก็บเกี่ยว สหกรณ์จะเป็นผู้รวบรวม ซึ่งคาดว่าปริมาณผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 850 กิโลกรัม สมาชิกจะได้ขายในราคาตันละ 8,000 บาท เมื่อสหกรณ์หักต้นทุนการผลิตและค่าบริการ 4,675 บาทแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะเป็นรายได้ของสมาชิกสหกรณ์

สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรกรแปลงใหญ่ ในพื้นที่ต้นทาง ภายหลังจากที่ได้    คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการแล้ว จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนขับเคลื่อนร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การสำรวจข้อมูลเกษตรกร การชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนการสนับสนุนปัจจัยการผลิต  การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร เช่น ค่าจัดเก็บเพื่อรอจำหน่าย ค่าประกัน ค่าชดเชยส่วนต่างราคา ในกรณีที่ราคาต่ำกว่าราคาที่กำหนด สหกรณ์ที่รับซื้อไว้ส่วนกลางทาง และเข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียน ผู้ปลูกรายแปลง เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชในรูปแบบแปลงใหญ่ มีการวางระบบบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบแปลงใหญ่ โดยสหกรณ์เป็นผู้จัดการแปลง พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตตามมาตรฐาน GAP โดยร่วมกันบูรณาการทุกหน่วยงานเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแปลงใหญ่ทั้งระบบ ตลอดห่วงโซ่การผลิต มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการวางแผนการจัดทำแปลง จัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิต เพื่อจะได้มีข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างทั้งก่อนและหลังเข้าโครงการ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรในพื้นที่ด้วยการรวมเป็นกลุ่ม มีการพัฒนาผู้นำกลุ่ม บริหารจัดการกลุ่ม การใช้ปัจจัยการผลิตและเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน ขณะที่ส่วนปลายทาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกันจัดหาตลาดเข้ามารับซื้อผลผลิตในพื้นที่แปลงใหญ่ พร้อมทั้งทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลผลิต ระหว่างสหกรณ์กับผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาการผลิต มีการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพการผลิตสู่มาตรฐาน GAP ตลอดจนส่งเสริมช่องทางการตลาด โดยสหกรณ์ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อร่วมกันจำหน่าย และประสานงานกับบริษัทที่รับซื้อผลผลิตและภาคีเครือข่ายเข้ามาเพื่อเชื่อมโยงตลาดเข้ามารองรับผลผลิตการเกษตรในพื้นที่แปลงใหญ่

“สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นห่วงในตอนนี้ คือ ปัจจุบันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยเกือบ 60 ปี ซึ่งจากการลงไปสำรวจในพื้นที่การทำเกษตรพบว่าเกษตรกรจ้างแรงงานเข้ามาทำทุกขั้นตอน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง สุดท้ายผลิตสินค้าออกมาก็ไม่มีคนรับซื้อ แต่เกษตรกรก็ยังปลูกกันต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าจะต้องปลูกอะไร ปริมาณเท่าไหร่ เพราะไม่มีข้อมูลสำหรับนำมาวางแผนการผลิต แต่ถ้าเป็นพื้นที่นิคมสหกรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแนวเขตชัดเจน สหกรณ์ในพื้นที่จะรู้ข้อมูลสมาชิกทั้งหมดว่าคนไหนปลูกอะไร จำนวนกี่ไร่ ผลผลิตออกมาปริมาณเท่าไหร่  ซึ่งจะทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตและวางแผนในการกระจายสู่ตลาดได้ ดังนั้น กรมฯจึงจะสนับสนุนให้นิคมสหกรณ์ 6 แห่งที่มีศักยภาพ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อดูแลส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยวางระบบบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลง มีตลาดรองรับที่แน่นอน และส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นในที่สุด” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กล่าว