“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แปลงใหญ่” ตัวช่วยลดต้นทุนการผลิตธุรกิจโคนม

ภายใต้กรอบข้อตกลงการเปิดเสรีการค้า ไทย-ออสเตรเลีย และ ไทย-นิวซีแลนด์ ส่งผลให้ไทยต้องลดภาษีนำเข้า หางนมเวย์ เนย ไขมันเนย เนยแข็ง และโคเนื้อ เป็น 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ส่วนสินค้านมและครีม เครื่องดื่มนมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย ภาษีนำเข้า เป็น 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2568

ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จับมือกับกรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในธุรกิจโคนมและโคเนื้อ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาดสินค้านมและเนื้อโค ภายใต้ FTA ที่ไทยจัดทำไว้กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

ล่าสุด นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมฟาร์มโคนมของบริษัท แมรี่ แอนแดรี่โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม “เอ็มมิลค์” คุณวสันต์ จีนหลง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แมรี่ แอนแดรี่โปรดักส์ เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกำลังเร่งปรับตัวพัฒนาคุณภาพผลผลิตในทุกด้าน เพื่อรองรับการเปิดตลาดการค้าเสรีในอนาคต

ปัจจุบัน โครงสร้างต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบของฟาร์มโคนมส่วนใหญ่ อยู่ที่ต้นทุนค่าอาหาร รองลงมาคือ ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ค่าโคนม และค่าแรงงาน ตามลำดับ ทางกลุ่มเกษตรกรหันมาใส่ใจในเรื่องการคัดเลือกสายพันธุ์โคเนื้อโคนมที่มีคุณภาพ รวมทั้งนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตและแปรรูปมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ทางบริษัทได้นำเทคโนโลยีอาหารสัตว์ TMR (Total Mixed Ration) ซึ่งเป็นอาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยต้องคำนวณสัดส่วนของอาหารทั้ง 2 ชนิด จากน้ำหนักแห้งให้ได้ตามความต้องการของโค แล้วนำมาเลี้ยงโคนม แทนการเลี้ยงแบบเดิม ซึ่งจะแยกการให้อาหารหยาบและอาหารข้น

บริษัทได้จัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและหญ้าเนเปียร์ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในลักษณะแปลงใหญ่ เนื้อที่ 200 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 6.5 ตัน ต่อไร่ โดยเน้นตัดต้นข้าวโพดพร้อมฝัก อายุ 80-90 วัน ซึ่งเป็นข้าวโพดระยะน้ำนม 50% เพื่อนำมาผลิตเป็นข้าวโพดหมัก (คอร์นไซเลจ) อาหารหยาบคุณภาพดี พร้อมลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิตอาหารหยาบ เช่น หญ้าเนเปียร์ เปลือกสับปะรด เปลือกข้าวโพด รำอ่อน มันเส้น ฯลฯ โดยจัดส่งอาหารหยาบให้ถึงฟาร์มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกโดยตรง ทำให้ประหยัดต้นทุน

Advertisement

ด้านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินโครงการ “จับมือผู้ประกอบการโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จาก FTA” เพื่อสร้างโอกาสให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นม และหาช่องทางขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย

Advertisement

ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ใช้โอกาสจากการลดภาษีของจีนและอาเซียนในการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านและจีน โดยนำผู้ประกอบการของไทยร่วมแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์นมครั้งแรก ในงาน THAIFEX ปรากฏว่า ไอเดียนี้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม สินค้าผลิตภัณฑ์นม UHT ของเกษตรกรไทยได้รับความสนใจจากผู้ซื้อในกลุ่มห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านสะดวกซื้อภายในประเทศ รวมทั้งบริษัทผู้นำเข้าของสิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา จีนไทเป ฮ่องกง และจีนต่างสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มของไทยด้วยเช่นกัน