“หนู” ศัตรูร้ายในนาข้าว

หนูเป็นสัตว์ขนาดเล็กที่พบได้ทั่วไปทุกแหล่งปลูกข้าวในประเทศไทย สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ หนูสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกข้าวได้เป็นบริเวณกว้าง ปัจจุบันมีการรายงานว่า พบการระบาดของหนูในนาข้าวในแถบภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดน่าน และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งข้าวส่วนใหญ่อยู่ในระยะกล้า ถึงแตกอ และมีบางส่วนเริ่มตั้งท้องออกรวง กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวในแถบภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังการระบาดของหนูในนาข้าวและมีความจำเป็นที่เกษตรกรต้องสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของหนูในนาข้าวให้ดำเนินการป้องกันกำจัดทันที หรือขอคำแนะนำในการป้องกันกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่

ในส่วนของแนวทางในการป้องกันกำจัดหนูในนาข้าวนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรดำเนินการ ดังนี้

  1. การป้องกันกำจัดหนูโดยไม่ใช้สารเคมีโดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในนาข้าวให้ไม่เหมาะต่อการเป็นที่อยู่อาศัยของหนู ลดขนาดของคันนาและกำจัดวัชพืชบริเวณคันนา เพื่อไม่ให้หนูมีที่หลบซ่อนตัวจากศัตรูธรรมชาติ หรือการขุด จับ ตี หรือใช้กับดัก หรืออนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติเพื่อกำจัดหนู เช่น งู นกแสก นกเค้าแมว นกฮูก เหยี่ยว และพังพอน
  2. การป้องกันกำจัดหนูโดยใช้สารเคมีก่อนการปลูกข้าว โดยก่อนการปลูกข้าวประมาณ 2 สัปดาห์ หรือในระหว่างการเตรียมดิน ควรใช้สารเคมีกำจัดหนูเพื่อลดประชากรของหนูให้เหลือน้อยลงมากที่สุด โดยใช้สารเคมีประเภทออกฤทธิ์เร็ว เช่น ซิงค์ฟอสไฟด์ ผสมกับปลายข้าว ในอัตราส่วนของซิลมูริน    1 ส่วน ต่อปลายข้าว 20 ส่วน โดยน้ำหนักเป็นเหยื่อพิษนำเหยื่อพิษที่เตรียมไปวางตามรอยที่พบตามคันนา หรือตามรูหนูที่พบ ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ระยะ 5-10 เมตร สารเคมีประเภทออกฤทธิ์เร็วนี้ ถ้าใช้มากกว่า 1 ครั้ง หนูจะเกิดการเข็ดต่อเหยื่อพิษและหนูจะไม่มากินเหยื่อพิษชนิดซ้ำอีก ควรเปลี่ยนมาใช้สารเคมีกำจัดหนูชนิดออกฤทธิ์ช้า เช่น สะตอม (0.005%) คลีแร็ท (0.005%) หรือ เส็ด (0.005%) ซึ่งเป็นเหยื่อพิษสำเร็จรูปไปวางตามคันนาหรือแหล่งที่พบร่องรอยหนู โดยแต่ละก้อน หรือถุงวางห่างกันประมาณ 5-10 เมตร และระหว่างการปลูกข้าว เมื่อข้าวตั้งตัวได้แล้ว ให้ใช้เหยื่อพิษประเภทออกฤทธิ์ช้าวางในนาข้าวที่ต้องการป้องกันกำจัดหนูเดือนละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 ครั้งก็เพียงพอสำหรับการ  ควบคุมประชากรหนู

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริม      การอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ (02) 955-1514,              (02) 955-1626 หรือ https://www.doae.go.th/doae/upload/files/rat rice270661,odf

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน