มะพร้าราคาร่วงเหลือ 5.96 บาทต่อกิโล – ชงกก.พืชน้ำมันและน้ำมันพืช 16 ก.ค.ช่วยเกษตรกร

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคามะพร้าวตกต่ำ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ผลใหญ่ ปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) ราคาลดลง 28.49% ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.74 บาท เมื่อเทียบกับปีก่อนมีราคากิโลกรัมละ 13.62 บาท ในเดือนมิ.ย. 2561 ราคาลดลง 57.73% ราคาเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 5.96 บาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 14.10 บาท

สำหรับผลผลิตมะพร้าวปี 2561 มีประมาณ 860,160 ตันเพิ่มขึ้น 2.44% จากปีก่อนที่มีจำนวน 832,895 ตัน ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนเพียงพอผลผลิตมะพร้าวจึงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลผลิตต่อไร่ ปี 2561 อยู่ที่ 783 กิโลกรัม หรือ 626 ผลต่อไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ให้ผลผลิต 754 กิโลกรัม หรือ 603 ผลต่อไร่ ช่วงที่ผ่านมา ในปี 2556-2559 พื้นที่ปลูกมะพร้าวได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว ส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศลดลง ขณะที่ความต้องการมะพร้าวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% จึงทำให้มีการนำเข้ามะพร้าวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาตกต่ำลง ซึ่งสินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าที่ไทยต้องเปิดตลาดตามข้อผูกพัน

ดังนั้น คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช จึงมีมติเห็นชอบให้เปิดตลาดมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ ภายใต้กรอบ WTO และ AFTA คราวละ 3 ปี (ปี 2560 – 2562) ตามข้อผูกพัน และมีการบริหารการนำเข้าปีต่อปี โดยการบริหารการนำเข้า ปี 2561 ดำเนินการ ดังนี้ ภายใต้กรอบ WTO ให้มะพร้าวผลและมะพร้าวฝอย ในโควตาปริมาณ 2,317 และ 110 ตัน ตามลำดับ อัตราภาษีมะพร้าวผลและมะพร้าวฝอย ในโควตา 20% นอกโควตา 54% ส่วนเนื้อมะพร้าวแห้ง ปริมาณ 1,157 ตัน อัตราภาษีในโควตา 20% นอกโควตา 36%

และน้ำมันมะพร้าว ปริมาณ 401 ตัน อัตราภาษีในโควตา 20% นอกโควตา 52% การบริหารการนำเข้าเพื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว กำหนดช่วงเวลานำเข้าในโควตา คือช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. และพ.ค.-ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตไทยออกสู่ตลาดน้อย หากต้องการนำเข้าต้องเสียภาษีนอกโควตาตามที่กำหนดไว้ สำหรับการนำเข้าน้ำมันมะพร้าวให้นำเข้าได้ไม่จำกัดช่วงเวลา และผู้นำเข้าต้องเป็นผู้ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ และต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศ อีกทั้งต้องเป็นนิติบุคคลที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบในกิจการของตนเองและดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันด้วย

ภายใต้กรอบ AFTA การนำเข้ามะพร้าวผล เนื้อมะพร้าวฝอย และน้ำมันมะพร้าว ไม่จำกัดปริมาณ อัตราภาษี 0% ยกเว้นเนื้อมะพร้าวแห้ง อัตราภาษี 5% และให้มีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับกรอบ WTO คือ กำหนดช่วงเวลานำเข้าช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. และพ.ค.-ธ.ค. โดยให้นำเข้ามาเพื่อใช้ในกิจการของตนเองเท่านั้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ขณะนี้ได้เตรียมนำเสนอคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เพื่อพิจารณาทบทวนการบริหารการนำเข้าต่อไปเพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็ว

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคามะพร้าวตกต่ำ ว่า ในวันที่ 16 ก.ค. นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอต่อคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้พิจารณาระยะเวลาการนำเข้ามะพร้าวใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ผลผลิตในประเทศ ซึ่งต้องทำอย่างรอบคอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

รวมทั้งจะมีการแก้ไขระเบียบการนำเข้ามะพร้าวโดยจะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าต้องรายงานปริมาณมะพร้าวที่ใช้จริงหลังการกะเทาะเปลือกเพราะที่ผ่านมาพบว่าอาจนำเข้าแล้วนำไปจำหน่ายต่อไม่ได้ใช้เองตามระเบียบ ซึ่งหากพบว่ามีผู้ประกอบการนำมะพร้าวไปจำหน่ายต่อก็อาจมีผลต่อการขอใบอนุญาตเพื่อนำเข้าครั้งต่อไป

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์