แจงนมฟลูออไรด์ไม่ทำใหฟันตกกระ ระบบจัดส่งต้องมีคุณภาพ

สกลนครรศ.ทพ. พรชัย จันศิษย์ยานนท์ ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าให้ยุติส่งนมผสมฟลูออไรด์ หลังจากพบว่า มีนมดังกล่าวหลุดออกนอกพื้นที่ จนทำให้เด็กฟันตกกระนั้น ข่าวนี้อาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการให้นมฟลูออไรด์ของไทยดำเนินการในเด็กอายุมากกว่า 4 ขวบขึ้นไป เป็นมาตรการที่มีความปลอดภัยสูง แต่ประเด็นที่ต้องดูแลอย่างเข้มงวดคือการบริหารจัดการต้องมีคุณภาพ เพื่อให้เด็กรับนมอย่างเหมาะสม

การเติมฟลูออไรด์ในนมเป็นมาตรการทางชุมชน ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพื่อป้องกันฟันผุในเด็ก กำหนดเกณฑ์ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน สำหรับประเทศไทยได้มีข้อสรุปทางวิชาการของวิชาชีพในปี 2560 ว่าให้พิจารณาตามความชุกของโรคฟันผุ, ระดับฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม พร้อมให้มีการเฝ้าระวังการได้รับฟลูออไรด์ของเด็ก ที่สำคัญต้องมีระบบการจัดส่งนมฟลูออไรด์ที่มีคุณภาพ

นมฟลูออไรด์คือการเติมฟลูออไรด์เข้าไปในนมสด วิธีนี้จะทำให้เด็กรับฟลูออไรด์เสริมอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน และคุ้มทุน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กไทย ที่ได้รับนมที่โรงเรียนทุกวัน การใส่ฟลูออไรด์ในนม ในปริมาณที่เหมาะสม คือ 0.5 มิลลิกรัม ต่อ 1 ถุง สามารถลดโรคฟันผุได้ ร้อยละ 33-77

นอกจากนี้ยังพบว่า หลังการดื่มนมฟลูออไรด์จะพบปริมาณฟลูออไรด์คงอยู่ในช่องปากตลอดเวลา ร้อยละ 55-60 และพบด้วยว่ามีฟลูออไรด์สะสมในแผ่นคราบจุลินทรีย์สูงขึ้นหลังได้รับนมนานถึง 8 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วย เสริมกระบวนการคืนกลับของแร่ธาตุบนตัวฟัน ทำให้ฟันเพิ่มความแข็งแรง เพราะได้รับแร่ธาตุฟลูออไรด์ไปสู่ผิวฟันด้วย
“ทั้งนี้ การบริหารจัดการเรื่องนมฟลูออไรด์ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อมิให้มีนมฟลูออไรด์ หลุดออกนอกพื้นที่ดังกล่าว”

 ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด