เผยแพร่ |
---|
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำนวน 14,500 แปลง ในพื้นที่ 90 ล้านไร่ หรือ 60% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ โดยในปี 2560 มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 1,512 แปลง ในพื้นที่ 2.6 ล้านไร่ หรือ 20% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ และตั้งเป้าหมายในปี 2561-64 ที่ 7,000 แปลงในพื้นที่ 30 ล้านไร่ หรือ 20% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ ปี 2565-69 เป้าหมาย 9,500 แปลง พื้นที่ 45 ล้านไร่ หรือ 30% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ และจะครบตามเป้าหมาย 14,500 แปลง ในปี 2570-79
“การสมัครเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่ยาก ที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมากที่ต้องการปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตร และสนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ล่าสุดเพียงปีนี้ปีเดียว (ปี 2561) มีกลุ่มเกษตรกรมากกว่า 3 พันแปลง สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ”
นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับหลักในการดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่นั้น จะมีการกำหนดขนาดพื้นที่การผลิตเพื่อให้คุ้มต่อการลงทุน มีการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีการดำเนินการในรูปแบบกลุ่มอยู่ก่อนแล้ว อาทิ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน มีแหล่งน้ำชัดเจน ปริมาณน้ำเพียงพอ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ กำหนดเป้าหมาย และแผนปฏิบัติงาน หรือแผนธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงแผนธุรกิจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสม และมีตลาดรองรับ
เกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่แปลงใหญ่ คือ ต้องเป็นพื้นที่อยู่ชุมชนที่ใกล้เคียง ขนาดพื้นที่ต้องเหมาะสมต่อการบริหารจัดการและเพียงพอให้เกิดอำนาจในการต่อรอง สำหรับเงื่อนไขของพื้นที่ และจำนวนเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ แบ่งตามประเภทสินค้า ได้ดังนี้ 1. ข้าว พืชไร่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ต้องมีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ และเกษตรกรไม่น้อยกว่า 30 ราย 2. ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ประมง ปศุสัตว์ ผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ สมุนไพรและพืชอื่น ๆ ต้องมีพื้นที่ร่วมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ หรือ เกษตรกรไม่น้อยกว่า 30 ราย
ทั้งนี้ เกษตรกร องค์กรการเกษตรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถยื่นใบสมัคร ที่หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ สำนักงานเกษตรอำเภอ ส่วนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์วิจัยข้าว สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด เป็นต้น จากนั้นจะต้องดำเนินการ อาทิ การจัดทำข้อมูลโครงการบริหารจัดการกลุ่ม การคัดเลือกประธานกลุ่ม และผู้จัดการแปลงใหญ่ ตามกระบวนการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ต่อไป
หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปีแรกเมื่อปี 2559 จนมาถึงปีนี้ มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เพราะขั้นตอนการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อขอเข้าร่วมโครงการ ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก เพราะเกษตรกรไทยมีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว เมื่อต้องรวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการการเกษตร จึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือการพัฒนากลุ่มให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผน และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิต
“ในปีนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จะเดินหน้าแผนพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ โดยจะเน้นหนักในการบริหารจัดการแปลงที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น มีฐานข้อมูลแปลงที่ละเอียด ภายใต้การทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนแปลงใหญ่ไปในทิศทางเดียวกันและมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเน้นให้ภาคประชาชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 แห่งทั่วประเทศ โดยการจัดทำแผนปฏิบัติงาน การจัดชั้นคุณภาพเครือข่ายแปลงใหญ่ นาแปลงใหญ่ และการบันทึกข้อมูล รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการดำเนินงานให้เกิดขึ้นในรูปของกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง” นายสมชาย กล่าวในที่สุด