วช. สนับสนุนสิ่งประดิษฐ์ ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้า ร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำการศึกษาวิจัย “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้าและมอเตอร์” (New Energy Ventilator) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสิ่งประดิษฐ์ลูกหมุนระบายอากาศให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์ในการประจุกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ได้มากขึ้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่ผลงานประดิษฐ์คิดค้น “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้า และมอเตอร์” ซึ่งได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประจำปี ๒๕๕๖ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะผู้ประดิษฐ์จึงมีความตั้งใจที่จะนำความรู้และประสบการณ์ทางด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน เผยแพร่สู่ชุมชนและนำไปต่อยอดความรู้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าใจ และนำไปสู่การประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสม และคณะผู้ประดิษฐ์ฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้าและมอเตอร์” เพื่อใช้ใน “โครงการทะเลตัวอย่างแบบผสมผสาน ตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และพบว่า การดำเนินการในพื้นที่นี้ดังกล่าวมีความเหมาะสม สามารถพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ได้ คณะผู้ประดิษฐ์ จึงมีแนวคิดในการที่จะพัฒนาลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้าและมอเตอร์ ให้สามารถใช้งานร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์ในการประจุกระแสไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สามารถประจุกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้มากขึ้น และให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งด้านการระบายความร้อนและการผลิตกระแสไฟฟ้า

ด้วยเหตุดังกล่าว วช. จึงได้สนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการวิจัยตอบสนองนโยบาย/เป้าหมายรัฐบาลและตามระเบียบวาระแห่งชาติ ในกลุ่มเรื่องการพัฒนาสินค้านวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ประจำปี ๒๕๕๙ ให้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอกกมล บุญยะผลานันท์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผลจากการวิจัยดังกล่าว พบว่า ลูกหมุนระบายอากาศสามารถได้รับมาตรฐาน AS470:2000 จากประเทศออสเตรเลีย โดยนำไปทดสอบประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นอกจากนี้ ชุดควบคุมการประจุกระแสจาก NEV และ Solar cell ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น คณะนักวิจัยฯ ได้นำสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาแล้วไปติดตั้งที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศูนย์วิจัยข้าว จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งลูกหมุนระบายอากาศนี้สามารถลดความร้อนภายในอาคารที่ติดตั้งได้ นอกจากนี้ ยังสามารถลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้สำหรับแสงสว่างในเวลากลางคืน ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าของหน่วยงานทั้งสอง

วช. โดยกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร เรื่อง ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อให้สื่อมวลชน นักวิจัย และผู้ใช้ประโยชน์ได้มีโอกาสพบปะ และถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงานทดแทนให้สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ ในวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์