เผยเทคนิคสร้าง ‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ เบื้องหลังน้ำถ้ำหลวงลดเร็ว ช่วย13หมูป่าออกถ้ำ

ธนาคารน้ำใต้ดิน อีกหนึ่งเบื้องหลังที่ช่วยทำให้ระดับน้ำในถ้ำหลวงลดลงอย่างรวดเร็ว จนเจ้าหน้าที่สามารถช่วยกันนำ 13 หมูป่า ออกจากถ้ำ เผยช่วยพร่องน้ำได้ในรัศมี 50 กิโลเมตร เผยเทคนิคการขุด

จากกรณีภารกิจช่วยชีวิต 13 ชีวิต ทีมหมูป่า ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา กระทั่ง เจ้าหน้าที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือ หน่วยซีล ได้ค้นหาจนพบตัวทั้งหมดอยู่บริเวณเนินนมสาว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีต ผวจ.เชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย ได้แถลงเริ่มต้นภารกิจสำคัญ คือการนำตัวทั้ง 13 ชีวิต ออกจากถ้ำ

ธนาคารน้ำ / หลังจากหลายหน่วยงานระดมสรรพกำลังช่วยกันสูบน้ำ เบี่ยงทางน้ำ และหาแนวทางเพื่อให้ระดับน้ำในถ้ำหลวงลดลง จนช่วง 3 วันที่ผ่านมา ระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถวางแผนนำตัวน้องๆ ทีมหมูป่า พร้อมโค้ช ออกมาจากถ้ำได้สำเร็จ และยังคงทยอยนำตัวน้องๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น

เบื้องหลังส่วนหนึ่งที่ทำให้ระดับน้ำในถ้ำลดลงอย่างรวดเร็วนั้น มาจากวิธีการสร้างช่องลมขนาดใหญ่ 9 หลุม โดยใช้หลักการแทนที่ลมในชั้นใต้ดินด้วยน้ำ ทำให้น้ำภายในถ้ำ และบริเวณโดยรอบลดลง โดยไม่ต้องระบายออกทางปากถ้ำ ซึ่งเทคนิคที่ว่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน

พ.อ.ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ในฐานะหัวหน้าทีมอาสาสร้างช่องลมธนาคารน้ำ เปิดเผยว่า การสร้างช่องลมขนาดใหญ่ หนึ่งในวิธีจัดการธนาคารน้ำใต้ดิน โดยขุดหลุมดิน 9 หลุม ซึ่งห่างจากปากทางเข้าถ้ำ ประมาณ 800 เมตร โดยเทคนิคนี้ จะใช้การขุดหลุมขนาดกว้างประมาณ 4×4 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร

พ.อ.ธนศักดิ์ เล่าต่อว่า ก่อนใส่วัสดุ เช่น ต้นและผลสับปะรด รวมถึงหินคลุก เทลงไปในหลุม จากนั้น ก็กลบดินบางๆ ซึ่งหลุมธนาคารน้ำนี้สามารถช่วยพร่องน้ำ ในระยะรัศมีโดยรอบประมาณ 50 กิโลเมตร ได้ เป็นเสมือนการสร้างท่อลม โดยใช้หลักการแทนที่ลมในชั้นใต้ดินด้วยน้ำ

รอง ผบ.มทบ.22 เล่าอีกว่า ทำให้น้ำภายในถ้ำ หรือบริเวณโดยรอบลดลง โดยไม่ต้องระบายออกทางปากถ้ำ ซึ่งเคยใช้ได้ผลมาแล้ว ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำชี และลุ่มน้ำสงคราม อย่างไรก็ดี นอกจากการสร้างธนาคารน้ำแล้ว ทีมสูบน้ำท่อซิ่งจิตอาสา ก็เป็นอีกหนึ่งกำลังหลัก ที่มุ่งมั่นช่วยสูบน้ำจนสามารถพาเด็กๆ ออกมาจากถ้ำได้

ธนาคารน้ำใต้ดิน ช่วยทำให้ระดับน้ำในถ้ำหลวงลดอย่างรวดเร็ว