ยูเนสโกประเมิน ‘อุทยานธรณีโคราช’ ลุ้นแห่งที่ 4 โลกขึ้นชั้นดินแดน 3 มงกุฎ

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่อุทยานธรณีโคราช หรือสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ พร้อม นายณรงค์ฤทธิ์  ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการสตูลจีโอพาร์คและกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระจากองค์การยูเนสโก เดินทางไปตรวจการประเมินภาคสนามของอุทยานธรณีโคราช เพื่อรับรองเป็น Nation Geopark โดยมี ผศ.ดร. ประเทือง จินสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช พร้อมบุคลากรที่เกี่ยวข้องบรรยายสรุปการค้นพบฟอสซิลทั้งซากพืช ซากสัตว์ ซึ่งได้อนุรักษ์มาตั้งแต่ปี 2464 สมัยรัชกาลที่ 6 บ่งบอกถึงศักยภาพอันโดดเด่นที่จะขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

ผศ.ดร. ประเทือง กล่าวว่า อุทยานธรณีโคราช ครอบคลุมพื้นที่ 3,167 ตารางกิโลเมตร มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาระดับสากล รวมทั้งนิเวศวิทยาและวัฒนธรรม มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาเควสตา หินทรายด้านตะวันตกเฉียงใต้ ที่ราบรูปคลื่นและที่ราบลุ่มด้านตะวันออกเฉียงเหนือ มีลำตะคองเป็นลุ่มน้ำสายหลักไหลผ่านกลางพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมือง และบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นที่ตั้งชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และค้นพบซากฟอสซิลจำพวกช้างดึกดำบรรพ์รวม 10 สกุล จาก 55 สกุล มากสายพันธุ์ที่สุดในโลก เรียกว่า เควสตาแอนด์ฟอสซิลแลนด์ (Cuesta&Fossil Land) หรือ “ดินแดนแห่งเควสตาและฟอสซิล”

“ขณะนี้มีเพียง 3 ประเทศในโลก คือ อิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ได้รับรองเป็นดินแดนแห่ง 3 มงกุฎทางธรรมชาติของยูเนสโก ซึ่งหมายถึงได้รับการรับรองโปรแกรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติครบทั้ง       3 โปรแกรมของยูเนสโก สำหรับนครราชสีมายูเนสโกรับรองแล้ว 2 โปรแกรม คือ 1.มรดกโลกผืนป่า    ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ขณะที่อุทยานธรณีโคราชหรือจีโอพาร์ค ทุกภาคส่วนกำลังผลักดันให้ก้าวไปสู่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ซึ่งต้องผ่านการตรวจประเมินในระดับประเทศก่อนเสนอให้ยูเนสโกตรวจครั้งสุดท้าย จะทราบคำตอบในปี 2562” ผศ.ดร. ประเทือง กล่าว

ผศ.ดร. ประเทือง กล่าวว่า คุณค่าของดินแดนแห่ง 3 มงกุฎทางธรรมชาติของยูเนสโก จะส่งผลให้ประเทศไทยและจังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ สามารถเพิ่มนักท่องเที่ยวได้หลายเท่าตัว เช่น จังหวัดเชจู เกาหลีใต้ มีนักท่องเที่ยวเพิ่ม 4 ล้านคน ภายใน 3 ปี โดยเครือข่ายความร่วมมือ 3 มงกุฎ หรือ Triple Crown ทำให้เพิ่มคุณค่าโคราชให้เป็นเมืองท่องเที่ยวโดดเด่น โดยใช้เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วงรอบ “เขาใหญ่-สะแกราช-ท่าช้าง-ท้าวสุรนารี-ศรีจนาศะและขอม-เควสตา เขายายเที่ยงหรือภูผาสูง” สามารถส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและเกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน