เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ มี 2 ประการ ประการแรก คือ กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละสิบห้าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง ให้แก่ 1. บุคคลธรรมดา ซึ่งมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร รวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ทั้งนี้ ในปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 2 .บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการรวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
นายณัฐพร กล่าวว่า สาระสำคัญประการที่สอง คือ บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 1. มีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนด ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป 2. มีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิมที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 และ 3. ไม่มีการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากรายจ่ายในการจ้างงานตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรอีก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด