กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งแก้ปัญหาการระบาดของ “จักจั่น” ในไร่อ้อย

ปัจจุบัน ป่าไม้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากอาจมีผลให้สมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อาหารตามธรรมชาติมีปริมาณลดลง จากสาเหตุดังกล่าว ส่งผลให้จักจั่น (Platypleura cespiticola Boulard) ซึ่งจัดเป็นศัตรูป่าไม้ เริ่มเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า พบจักจั่นระบาด และเข้าทำลายพื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ อำเภอสามชุก ศรีประจันทร์ และอำเภอแสวงหา และพื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียงที่เสี่ยงต่อการระบาดของจักจั่น

ในอดีตการศึกษาวงจรชีวิตของจักจั่นมีค่อนข้างน้อย จึงทำให้ไม่ทราบวงจรการระบาดของจักจั่นเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ที่ผ่านมา พบจักจั่นในระยะตัวเต็มวัย ตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม ในไร่อ้อยและเมื่อเดินเข้าไปในไร่จะเห็นจักจั่นบิน หรือได้ยินเสียงร้องในไร่อ้อย ดังนั้น ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากสำรวจพบจักจั่น ให้ขอคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดทันที

ระยะที่ทำความเสียหายให้กับอ้อย คือระยะตัวอ่อน ซึ่งอาศัยอยู่ในดินที่ความลึก ตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ถึง 2.5 เมตร โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากพืช ทำให้ระบบรากเสียหายเกิดอาการเหี่ยวและแห้งตายได้ในที่สุด

ตัวอ่อนมีขาหน้าขนาดใหญ่สำหรับขุดดิน บางครั้งจะเห็นดินเป็นแท่งทรงกระบอกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร บิดเป็นเกลียวโผล่ขึ้นมาจากดิน สูงประมาณ 5-7 เซนติเมตร คล้ายกับดินที่เกิดจากไส้เดือนแต่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน อาศัยอยู่ในดิน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและทำความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยได้มาก

ในส่วนของแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของจักจั่นในไร่อ้อยนั้น เนื่องจากจักจั่นเป็นศัตรูพืชที่ไม่พบเข้าทำลายอ้อยบ่อยนัก การป้องกันกำจัดจึงยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจน กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ไม่บุกรุกทำลายป่าและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของจักจั่น เพื่อไม่ให้เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร

หากพบระบาดในอ้อยไม่ควรใช้สารเคมี เนื่องจากลงทุนสูงแต่ได้ผลน้อย อีกทั้งจักจั่นไม่ได้ระบาดเป็นประจำ สำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดให้ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การขุด หรือไถพรวน เพื่อจับตัวอ่อนในดิน หรือการเก็บตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน หรือการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของคนในชุมชน เช่นเดียวกับการรณรงค์เก็บตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน แมลงนูนหลวง และด้วงหนวดยาวอ้อย เป็นต้น

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ 0-2955-1514 , 0-2955-1626 หรือ https://www.doae.go.th/doae/upload/files/Sugarcane_Cicada_040761.pdf