จัด 10 คลัสเตอร์ลุ่มน้ำใหม่ EEC นำร่อง “ปราจีน-บางปะกง”

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดคณะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นในการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก รวมไปถึงการทบทวนการกำหนดขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำประเทศไทย 25 ลุ่มน้ำใหม่

โดยเริ่มต้นลงพื้นที่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของจังหวัดเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดย นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติน้ำ (สทนช.) กล่าวว่า ภาวะน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก ทำให้ สทนช.ต้องทำโครงการศึกษาทบทวนแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบจากการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ (ภาคตะวันออก) และได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ จ.ฉะเชิงเทรา

ลุ่มน้ำปราจีนฯ-บางปะกง

พื้นที่ภาคตะวันออกมีลุ่มน้ำเดิม อาทิ ลุ่มน้ำปราจีนบุรีกับลุ่มน้ำบางปะกง มีอ่างห้วยโสมงอยู่ที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำบางปะกง ดังนั้นเมื่อจะกักน้ำเค็มจากบางปะกงจึงไม่สอดรับกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจจะยุบเป็นลุ่มน้ำเดียว เพราะตอนบนและตอนล่างเป็นคนละลุ่มน้ำ หรือบางลุ่มน้ำมีขนาดเล็ก ห่างไกลกัน เมื่อต้องหารือก็เกิดปัญหา ทั้งหมดจะนำมาสู่การทบทวนเพื่อแบ่งลุ่มน้ำใหม่ รวมถึงลำน้ำบางพื้นที่ไม่เข้มแข็ง ต่อไปเมื่อมีกฎหมายรองรับจะทำให้ทุกพื้นที่มีแหล่งน้ำใช้เท่าเทียมกัน

“การแบ่งลุ่มน้ำอาจกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ้าง เพราะจะควบรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำ 3 ประเภท เช่น ลุ่มเจ้าพระยามี 6 ลุ่มน้ำ อาจให้เหลือลุ่มน้ำประธานหรือคลัสเตอร์เพียงลุ่มน้ำเดียว ส่วนภาคตะวันออกต่อไปหากขยายและพัฒนาพื้นที่ EEC ก็จะต้องเป็นลุ่มน้ำประธานแห่งเดียวเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ แม้ภาคตะวันออกจะเป็นลุ่มน้ำเล็ก แต่ค่อนข้างจะมีผลสืบเนื่องต่อกันหลายแหล่งน้ำ” นายสิริวิชญกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการแบ่งลุ่มน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำเป็น 25 ลุ่มน้ำหลัก กับ 254 ลุ่มน้ำสาขา แต่ยังมีลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำย่อยบางส่วนที่ยังไม่เชื่อมโยงสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม นอกจากนี้ยังพบว่า ลุ่มน้ำหลักหลายลุ่มน้ำมีขนาดเล็ก บางลุ่มน้ำหลักมีความสัมพันธ์เชิงอุทกวิทยา และการบริหารจัดการที่คาบเกี่ยวกับลุ่มน้ำหลักอื่น ๆ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำ จึงจำเป็นต้องทบทวนการกำหนดขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมา สทนช.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษาทบทวนการกำหนดขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ในการสนับสนุนงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในกรณีภาวะน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะมีลุ่มน้ำประธานทั้งหมด 10 กลุ่มลุ่มน้ำ หรือ “คลัสเตอร์ลุ่มน้ำ” และจะมีการจับกลุ่มลุ่มน้ำหลักจากเดิม 25 ลุ่มน้ำใหม่

ออกกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำใหม่

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาการบริหารจัดการน้ำของไทย คือ การขาดเอกภาพ และมีลุ่มน้ำมากเกินไปกว่า 25 ลุ่มน้ำ ดังนั้นหลังจากทบทวนลุ่มน้ำหลักจะต้องตราเป็น “พระราชกฤษฎีกา” เพื่อกำหนดขอบเขตลุ่มน้ำใหม่ โดยจะพิจารณาทั้งขอบเขตการปกครอง-วัฒนธรรม “ไม่ใช่ดูด้านกายภาพอย่างเดียว” ทาง สทนช.ต้องลงพื้นที่เพราะมีหลายมิติ ต้องดูการทำงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ผ่านมาด้วยว่าทำงานอย่างไร เพื่อนำมาจัดให้เป็นระบบมากขึ้น

สำหรับหลักการในการแบ่งลุ่มน้ำใหม่ สทนช.จะพิจารณาจากจุดออกของลุ่มน้ำที่ไหลลงสู่ทะเล หรือออกจากประเทศสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ หรือจากความสูงต่ำ ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางการไหลของน้ำ วัฒนธรรม องค์กร ที่มีความคล้ายคลึงกันในพื้นที่

การแบ่งเขตการปกครอง อาจใช้เส้นแบ่งระดับจังหวัดเป็นเส้นแบ่งลุ่มน้ำในพื้นที่ เพื่อกำหนดกลุ่มผู้ใช้น้ำ 3 ประเภทตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ กล่าวคือ ประเภทที่ 1 น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เกษตรกรรายย่อย ประเภทที่ 2 เพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้นํ้าปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มนํ้าให้ชัดเจน

“ถ้าหากมีการใช้น้ำหรือมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันของลุ่มน้ำ และมีพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ใหญ่มากนัก ควรรวมกลุ่มลุ่มน้ำเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมเป็นเนื้อเดียวกัน พูดง่าย ๆ ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ควรแบ่งออกเป็นหลายส่วนแยกออกจากกันอยู่ต่างพื้นที่หรือต่างภูมิภาค และถ้าพื้นที่ลุ่มน้ำแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ควรแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำนั้นออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งอาจจะควบรวมกับพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียง โดยมีการแบ่งร่างใหม่เป็น 10 คลัสเตอร์ลุ่มน้ำ” นายสมเกียรติกล่าว

10 คลัสเตอร์ลุ่มน้ำทำยากแต่ต้องทำ

แม้ว่าจะมีการศึกษาเพื่อจัดกลุ่มลุ่มน้ำหลักใหม่ แต่ยังคงมีลุ่มน้ำหลักบางลุ่มน้ำที่ต้องมีการบริหารจัดการร่วมกันอยู่ เช่น ลุ่มน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ทั้งลุ่มน้ำปิง-วัง-ยม-น่าน-สะแกกรัง-ท่าจีน-ป่าสัก และเจ้าพระยาใหญ่

ดังนั้นเพื่อการบริหารจัดการน้ำได้ดี จึงมีแนวคิดจัดกลุ่มลุ่มน้ำเรียกว่า “คลัสเตอร์ลุ่มน้ำ” ขึ้นมาแบ่งออกเป็น 10 คลัสเตอร์ (ตามภาพ) และในอนาคตจำเป็นต้องมีแผนสำรองเพื่อรองรับการขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จากลุ่มน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำบางปะกง ทั้งสองลุ่มน้ำมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่น้ำบางปะกงจำเป็นต้องอาศัยน้ำต้นทุนจากแม่น้ำปราจีนบุรี เพื่อการบริหารจัดการน้ำเป็นเนื้อเดียวกัน “จะเห็นว่าเราสามารถพัฒนาแหล่งน้ำหรือผันน้ำลุ่มน้ำตะวันตก โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำโดยตรงโดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยน้ำจากต่างประเทศ”

อย่างไรก็ตาม การจัดแบ่งลุ่มน้ำใหม่ถือเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่ สทนช.ต้องสรุปรายละเอียดผลการศึกษาทั้งลุ่มน้ำประธาน ลุ่มน้ำหลัก ลุ่มน้ำย่อย และลุ่มน้ำสาขาย่อย โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจของทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ทาง สทนช.มั่นใจว่าการแบ่งลุ่มน้ำใหม่จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมมีเอกภาพ รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์