พาณิชย์ เตรียมใช้มาตรการตอบโต้ประเทศ”ระงับนำเข้า”ลำไยไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะแถลงข่าวถึงการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับประเทศระงับการนำเข้าลำไยจากไทย เช่น อินโดนีเซีย รวมถึงผลกระทบด้านส่งออกของไทยกับสงครามการขึ้นภาษีและตอบโต้ระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงประเทศอื่นๆที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า หลังจากสั่งการให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบและประเมินผลกระทบด้านบวกและลบ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวสวนลำไยมัดปุ๊ก บ้านร้องขุด อำเภอสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกลำไยแปลงใหญ่ และมีการบริหารจัดการแบบกลุ่ม เป็นผู้รวบรวมรับซื้อลำไยในพื้นที่ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปประเทศมาเลเซียและจีน ในวันที่ 14 กรกฎาคม ว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการส่งออกลำไยภาคเหนือ และป้องกันลำไยล้นตลาดในปี 2561

ซึ่งกระทรวงฯได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการลำไยสดปีนี้ ดังนี้ 1. ผลักดันลำไยผลสดออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ อินเดีย จีน และตลาดที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่ 2. กระจายลำไยออกนอกจังหวัดแหล่งผลิต เป้าหมาย 5,000 ตัน ผ่านตลาดประชารัฐ โมเดิร์นเทรด สถานีบริการน้ำมัน และไปรษณีย์ไทย

3. สนับสนุนการแปรรูปลำไยเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยต่อยอดการใช้นวัตกรรม และ 4. รณรงค์และประชาสัมพันธ์การบริโภคลำไย เช่น การจัดเทศกาลผลไม้ โดยกระทรวงฯ ได้ทำงานเชิงรุก และเร่งดำเนินมาตรการหลายส่วนไปแล้ว เชื่อมั่นว่า ปีนี้ กระทรวงฯ จะบริหารจัดการลำไยสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีความกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการห้ามนำเข้าลำไยของอินโดนีเซียในช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA มองหาตลาดส่งออกศักยภาพอื่นๆ นอกเหนือจากอินโดนีเซีย โดยกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นแนวหน้าเจรจาผลักดันให้คู่ค้าเปิดตลาดและลดภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการส่งออก โดยในช่วงที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จในการจัดทำ FTA

ซึ่งปัจจุบัน ไทยมี FTA รวม 12 ฉบับ กับคู่ภาคีรวม 17 ประเทศ และทุกฉบับได้มีการลดภาษีสินค้าลำไยและผลิตภัณฑ์ให้ไทยแล้ว มีเพียงความตกลงไทย-อินเดีย ที่อินเดียมีการยกเลิกภาษีให้แค่สินค้าลำไยสดเท่านั้น ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากลำไย อาทิ ลำไยแช่แข็ง ลำไยอบแห้ง และลำไยกระป๋อง ยังถูกเก็บภาษี MFN(ให้การปฏิบัติต่อสินค้าจากประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน) อัตรา 30 %

ซึ่งสำหรับคู่ภาคีส่วนใหญ่ ได้มีการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าลำไยและผลิตภัณฑ์ให้ไทยแล้ว อาทิ ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนและญี่ปุ่น ที่มีการยกเลิกภาษีสินค้าลำไยสด ลำไยแช่แข็ง และลำไยอบแห้งให้ไทยภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน และความตกลงไทย-ญี่ปุ่น

สำหรับความตกลงอาเซียน สมาชิกอาเซียนได้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าลำไยสด ลำไยแช่แข็ง ลำไยกระป๋อง และลำไยอบแห้งให้ไทยหมดแล้วเช่นกัน ยกเว้น ลาว ที่มีการเก็บภาษีลำไยอบแห้ง 5 % ดังนั้น ตอนนี้ไทยสามารถส่งลำไยไปขายในประเทศอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยไม่ต้องเสียภาษีแล้ว

พร้อมกันนี้ ได้มีการสัมมนาให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนลำไย และผู้ประกอบการ เรื่อง“การค้าเสรีเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยก้าวสู่ Smart Enterprise 4.0” ระหว่างวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเน้นให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จาก FTA การบริหารจัดการตลาด การพัฒนามาตรฐานและคุณภาพ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยนวัตกรรม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาใช้มาตรการกับประเทศที่ใช้มาตรการไม่เป็นธรรมต่อไทย จนกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมในประเทศ ว่า ในส่วนของลำไยส่งออก ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะได้ข้อสรุปว่าไทยจะประกาศใช้มาตรการปกป้องทางการค้า โดยกำลังหารือกับคณะกรรมการดูแลสินค้าเกษตรในแต่ละชนิด เพื่อดูว่าได้รับความเดือดร้อนอย่างไร

และรวมพิจารณาประกาศใช้มาตรการใด อย่าง อินโดนีเซีย ได้จำกัดนำเข้าพืช จนหลายประเทศยื่นร้ององค์การการค้าโลก (WTO) และชนะคดี ทำให้อินโดนีเซียต้องแก้ไขมาตรการ ในส่วนของไทยจะกระทบต่อการส่งออกลำไยไปอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาก็ได้ทำเรื่องร้องถึงรัฐบาลอินโดนีเซียมาตลอด และหากยังเพิกเฉยไทยก็อาจต้องใช้มาตรการกับสินค้านำเข้าจากอินโดนีเซียด้วย  ทั้งนี้ ในแต่ละปีลำไยไทย ส่งออกไปเวียดนามเป็นสัดส่วนมากสุด 55% ตามด้วยจีน 25% อินโดนีเซีย 13% ฮ่องกง 3.6% และมาเลเซีย 1%