นักธรณีวิทยา ชี้แหล่งฟอสซิล ‘ซับชมพู’ อยู่ในยุคเดียวกับ ‘ภูน้ำหยด’ เป็นที่ต้องการของตลาด

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศทรัพยากรธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณีวิทยา กล่าวถึงแหล่งฟอสซิลดึกดำบรรพ์ที่พบที่บ้านซับชมภู อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ว่า จากภาพที่สื่อนำออกเผยแพร่ ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า เป็นยุคเพอร์เมียนและเป็นยุคเดียวกันกับแหล่งฟอสซิลฯ ภูน้ำหยด อ.เชียรบุรี ซึ่งอายุราว 240 ล้านปี ทั้งนี้ ทีมธรณีวิทยาเพชรบูรณ์ได้ลงพื้นที่สำรวจก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่สภาพพื้นที่และภูมิประเทศมีความแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งสองแหล่งเชื่อว่ามีการเชื่อมโยงกันอย่างแน่นอน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกอนุแผ่นผิวโลกเก่า อินโด-ไชน่า และชาน-ไทยที่ยกตัวสูงขึ้นโดยมีทะเลเททิสคั่นกลาง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาขึ้น โดยแนวที่พบหลักฐานมีตั้งแต่ถ้ำใหญ่น้ำหนาวเพชรบูรณ์ โดยไล่ลงมาถึงภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี และยังต่อเนื่องไปถึง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นทะเลเดียวกันมาก่อน

ดร.สมบุญ กล่าวอีกว่า สำหรับแหล่งฟอสซิลดึกดำบรรพ์ภูน้ำหยดนั้น ขณะนี้ มีนักวิชาการและนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจและติดต่อสอบถามข้อมูลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น ได้มีนักวิจัยในเครือข่ายนักธรณีให้ความสนใจเช่นกัน โดยมีการขอข้อมูลและกำลังพิจารณาเรื่องการขอทุนวิจัยแหล่งธรณีวิทยาแห่งนี้ ฉะนั้น หากมีการศึกษาค้นคว้าและมีการเก็บตัวอย่างไปทำวิจัยในห้องแล็บ จะทำให้เกิดประโยชน์และได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญจะนำไปสู่การไขปมปริศนาถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกเมื่อ 240-280 ล้านปี ในยุคเพอร์เมียนที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนทำให้สัตว์เลื้อยคลานน้อยใหญ่ในยุคนี้เกิดการสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก

ดร. สมบุญ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าห่วงใยอีกเรื่องก็คือ ซากฟอสซิลเหล่านี้ไม่เพียงมีคุณค่าในด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นสมบัติของชาติหรือของโลกอีกด้วย แม้ปัจจุบันมีกฎหมายให้ความคุ้มครอง ห้ามทำการค้าซื้อขายกัน แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นที่ต้องการของบรรดาพวกนักสะสมและพวกชอบทำเครื่องรางของขลังอีกด้วย จึงทำให้ฟอสซิลเหล่านี้มีมูลค่า และเท่าที่ทราบในตลาดมืดก็มีการประมูลและซื้อขายฟอสซิลเหล่านี้ด้วย ยิ่งปัจจุบันมีทั้งระบบอินเตอร์เน็ตและสื่อโซเชียล ทำให้การซื้อขายแบบข้ามโลกทำได้ไม่ยาก ฉะนั้น จึงฝากให้หน่วยงานในพื้นที่และทางท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวบ้านในชุมชน ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลอนุรักษ์รักษาฟอสซิลเหล่านี้เอาไว้ให้ได้

Advertisement

อนึ่ง จากข้อมูลเว็บไซต์วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี ระบุว่า “ยุคเพอร์เมียน” (อังกฤษ : permian) เป็นยุคสุดท้ายในมหายุคพาลีโอโซอิก อยู่ระหว่าง 299±0.5 ล้านปีมาแล้วถึง 251±0.16 ล้านปีมาแล้ว มีสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอยู่มากมาย พืชตระกูลสน เฟิร์น มีมากในช่วงนี้ สัตว์เลื้อยคลานในช่วงนี้คล้ายคลึงกับไดโนเสาร์ แต่เกิดการสูญพันธุ์ช่วงปลายยุค ซึ่งเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดที่พบบนโลก สิ่งมีชีวิตบนโลกได้สูญพันธุ์ไปถึง ร้อยละ 96-97

ที่มา : มติชนออนไลน์